องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ โครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ภายใต้แนวคิด Smart City Solutions ระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ณ ห้องประชุมสภา ชั้น 2 อาคารหอประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่
นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายเชาว์ พันธ์รุ่งจิตติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานขายและปฏิบัติการลูกค้า 3 บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ โครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ภายใต้แนวคิด Smart City Solutions โดยมีนายภูเวียง ประคำมินทร์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมกับนายรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมเป็นประธานในพิธี โดยวัตถุประสงค์การลงนามในครั้งนี้เพื่อขับเคลื่อนและบูรณาการดำเนินการพัฒนาเมืองอัจริยะร่วมกับหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง โดยร่วมกันศึกษาออกแบบและพัฒนาการให้บริการ Digital Solution Technology รวมถึง Digital Infrastructure ในการพัฒนาที่สามารถตอบสนองวิถีชีวิตในยุคปัจจุบัน เพื่อให้บริการประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในจังหวัดเชียงใหม่ และเป็นต้นแบบในการพัฒนาเมืองที่ดีอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดเชียงใหม่
ทั้งนี้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ได้ตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญของยุทธศาสตร์และแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองอัจฉริยะจังหวัดเชียงใหม่ ตามที่รัฐบาลมีนโยบายประเทศไทย 4.0 เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศให้ทันต่อความก้าวหน้าทางนวัตกรรม โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาเมือง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศและแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ที่สนับสนุนให้นำเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมสมัยใหม่ โดยแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ที่ส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาพัฒนาสภาพแวดล้อมเมืองให้มีความน่าอยู่ ปลอดภัย และ มีการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม อีกทั้งเป็นการจัดโครงสร้างพื้นฐานที่สอดคล้องกับศักยภาพทางเศรษฐกิจ โครงสร้างทางสังคมและประชากร รวมถึงเป็นการจัดการระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการบริการที่สะดวกรวดเร็ว และเป็นการลดต้นทุนของผู้ประกอบการจากการเชื่อมโยงของระบบโลจิสติกส์ และระบบเครือข่ายระหว่างเมืองศูนย์กลางทั่วประเทศ เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน