สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เผย 17 เมษายน 2564 มีปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์บังดาวอังคาร” เวลาประมาณ 20:12-21:28 น. ช่วงเวลาดังกล่าว หากมองจากโลก ดาวอังคารจะค่อย ๆ ลับหายไปหลังดวงจันทร์ และกลับมาปรากฏอีกครั้ง เป็นปรากฏการณ์ที่หาชมได้ยาก เกิดขึ้นไม่บ่อยนักในประเทศไทย สังเกตได้ด้วยตาเปล่า แนะชมผ่านกล้องโทรทรรศน์จะเห็นชัดเจนยิ่งขึ้น
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ เปิดเผยว่า คืนวันที่ 17 เมษายน 2564 จะเกิดปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวอังคาร เริ่มสังเกตการณ์ได้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันตก วัตถุทั้งสองอยู่เคียงกันสูงจากขอบฟ้าประมาณ 33 องศา จากนั้นดาวอังคารจะเริ่มสัมผัสขอบดวงจันทร์ในเวลาประมาณ 20:12 น. จะสังเกตเห็นดาวอังคารค่อย ๆ ลับหายไปด้านหลังของดวงจันทร์ และโผล่พ้นออกมาทั้งดวงอีกครั้งในเวลาประมาณ 21:28 น. อยู่สูงจากขอบฟ้าทิศตะวันตกประมาณ 17 องศา (ข้อมูลดังกล่าวคำนวณจากพื้นที่กรุงเทพมหานคร หากสังเกตการณ์ในพื้นที่อื่น ช่วงเวลาของการบังอาจจะเริ่มและสิ้นสุดไม่พร้อมกัน)
การบังกันของวัตถุท้องฟ้า (Occultations) เป็นปรากฏการณ์ที่วัตถุท้องฟ้าหนึ่งเคลื่อนที่ผ่านหน้ามาบังอีกวัตถุหนึ่งเมื่อสังเกตจากแนวสายตา อาทิ ดวงจันทร์บังดาวเคราะห์ ดวงจันทร์บังดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์บังดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์บังกันเอง เป็นต้น เราสามารถใช้ปรากฏการณ์นี้คำนวณหาขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของวัตถุ คำนวณหาระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์ ตรวจหาและศึกษาโครงสร้างของชั้นบรรยากาศ รวมถึงการใช้ตรวจหาวงแหวนของดาวเคราะห์ชั้นนอกได้อีกด้วย เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์สำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อวงการวิจัยดาราศาสตร์
“ดวงจันทร์บังดาวอังคาร” เป็นปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่หาชมยาก เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก และนานทีจะสังเกตการณ์ได้ในประเทศไทย จึงขอเชิญชวนผู้สนใจร่วมชมความสวยงามด้วยตาเปล่า หากชมผ่านกล้องโทรทรรศน์จะสังเกตเห็นดาวอังคารค่อย ๆ ลับหายไปหลังดวงจันทร์และค่อย ๆ โผล่พ้นออกมาทั้งดวงได้อย่างชัดเจน ครั้งต่อไปที่สามารถสังเกตได้ในไทย อีก 19 ปีข้างหน้า จะเกิดขึ้นวันที่ 22 มีนาคม 2583 เวลาประมาณ 00:15 น. นายศุภฤกษ์ กล่าวปิดท้าย.