สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. เดินหน้าบูรณาการบริหารจัดการกระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างหน่วยงานและชุมชน พร้อมโชว์แนวทางการสร้างชุมชนแม่จริม ให้เป็นชุมชนลดการเผาด้วยวิถีเกษตรตามแนวทางโครงการหลวง โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่จริม จังหวัดน่าน จนคว้ารางวัลเลิศรัฐ สาขาบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม ระดับดี ในปี 2562
นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง เปิดเผยว่า ปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้นในประเทศไทยโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือนั้นมีมานานหลายปี ซึ่งภาคเหนือจะถูกปกคลุมด้วยหมอกควันในช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนเมษายน ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของประชากรในพื้นที่ต้องเผชิญกับมลภาวะทางอากาศ ซึ่งสาเหตุของปัญหาเรื่องหมอกควันนั้นเกิดมาจากการเผาพื้นที่เกษตร ทาง สวพส. จึงเข้าดำเนินงานในพื้นที่โดยใช้รูปแบบการบริหารจัดการกระบวนการมีส่วนร่วมเชิงบูรณาการจากหน่วยงานทุกระดับ โดยนำผลสำเร็จของสถาบันในการเป็นต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงในพื้นที่ ตำบลแม่จริม จังหวัดน่าน ผลักดันให้คนในชุมชนแม่จริมลดการเผาด้วยวิถีเกษตรตามแนวทางโครงการหลวง จนทำให้โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่จริม จังหวัดน่าน สามารถคว้ารางวัลเลิศรัฐ สาขาบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม ระดับดี ในปี 2562
สำหรับ ตำบลแม่จริม จังหวัดน่าน ครอบคลุมพื้นที่ 6 หมู่บ้าน มีประชากรรวมทั้งสิ้น 2,325 คน 587 ครัวเรือน อยู่ในเขตพื้นที่ดำเนินงานของโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่จริม ภายใต้การดำเนินงานของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ซึ่งแต่เดิมนั้นเกษตรกรแม่จริมทำไร่ข้าวโพด เป็นพืชไร่เชิงเดี่ยว และขาดองค์ความรู้ในการทำการเกษตรแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เมื่อถึงเวลาปรับพื้นที่เตรียมการปลูกครั้งใหม่ เกษตรกรจะใช้วิธีเผาเศษวัชพืชเพราะรวดเร็วและไม่มีค่าใช้จ่าย ที่สำคัญคือ เกษตรกรไม่สนใจการรณรงค์เลิกการเผาเพราะมองว่าไร้ประโยชน์ ทั้งยังมีความเชื่อว่าการเผาป่าเห็ดจะขึ้น ผักหวานจะขึ้น และต้องชิงเผาป่าก่อนเพื่อไม่ให้ไฟไหม้หนัก ก่อให้เกิดปัญหาหมอกควันจากการเผาป่าที่ปกคลุมภาคเหนือตอนบน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน นอกจากนี้ ยังทำให้หน้าดินในพื้นที่เกิดไฟป่าซ้ำซาก ขาดความสมบูรณ์และพังทลายมีผลต่อการปลูกพืชแทบทุกชนิด ซึ่งจังหวัดน่านเป็นหนึ่งในพื้นที่ภาคเหนือที่ถูกชี้เป้าเป็นพื้นที่เกิดไฟป่าซ้ำซาก โดยรั้งสถิติอันดับ 4 จาก 9 จังหวัดภาคเหนือ และพบจุดความร้อน (Hotspot) พ.ศ.2561 จำนวน 533 จุด (ข้อมูลจากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดน่าน) ส่วนใหญ่เกิดจากการที่เกษตรกรผู้ทำไร่ข้าวโพดพร้อมใจเผาซังข้าวโพดและเศษวัชพืชอื่น ๆ เพื่อเตรียมพื้นที่ปลูกข้าวโพดครั้งต่อไป
สวพส. จึงเข้าดำเนินงานในพื้นที่โดยใช้รูปแบบการบริหารจัดการกระบวนการมีส่วนร่วมเชิงบูรณาการจากหน่วยงานทุกระดับ มุ่งเป้าไปที่การทำให้เกษตรกรเปิดใจยอมรับและเห็นความสำคัญของปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรเริ่มจากค้นหาผู้นำชุมชนที่มีความเสียสละ มีจิตอาสา ซื่อสัตย์มีคุณธรรม โดยสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นแก่ผู้นำชุมชน ซึ่งเป็นผู้มีส่วนสำคัญในทุกขั้นตอนของการพัฒนา โดยเจ้าหน้าที่ สวพส. จะดำเนินงานร่วมกับชุมชนอย่างใกล้ชิด ทั้งรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ โดยคิดว่าชาวบ้านคือสมาชิกในครอบครัวที่สามารถให้คำปรึกษาและช่วยแก้ปัญหาได้ จนเกิดเป็นความเชื่อมั่นศรัทธาในแนวทางการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ สวพส. และให้ความร่วมมือในทุกกระบวนการ ตั้งแต่การร่วมวิเคราะห์ปัญหาความต้องการของชุมชน กำหนดเป้าหมายและแนวทางการพัฒนา จากนั้นถ่ายทอดความรู้และให้ข้อมูลแก่ชุมชนในการปรับวิถีเกษตรจากดั้งเดิมที่มีการเผาเป็นระบบเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามแนวทางโครงการหลวง ด้วยการปลูกข้าวโพดโดยไม่ไถพรวนและเหลื่อมด้วยพืชตระกูลถั่วหลังนา การทำคันปุ๋ยจากวัชพืชและตอซังข้าวโพด การปลูกข้าวระบบน้ำน้อย การทำปุ๋ยหมักไม่กลับกอง และส่งเสริมการปลูกผักในโรงเรือน ควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในกิจกรรมปลูกป่าและหญ้าแฝกภายใต้โครงการจิตอาสาเราทำความดี
ผลความสำเร็จ ภาพรวมสถิติการเปลี่ยนแปลง จากการเปรียบเทียบ พื้นที่ปลูกข้าวโพดในขอบเขตแผนที่ดินรายแปลงตำบลแม่จริม จากจำนวน 677 แปลง 9,711.33 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 48.18 ของพื้นที่รายแปลงทั้งหมดเปลี่ยนเป็นมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเหลือเพียง จำนวน 179 แปลง 2,645.68 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 27.24 หรือมีสัดส่วนการลดลง 7,065.65 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 20.94 และจากข้อมูลการกระจายตัวของจุดความร้อน ปี 2561 มีจำนวน 7 จุด ซึ่งพบอยู่ในพื้นที่ป่า 2 จุด และพื้นที่เกษตร 5 จุดโดยลดลงจาก 29 จุดในปี 2555
สวพส. ทำหน้าที่สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ชุมชนตำบลแม่จริม โดย 1. ค้นหาผู้นำชุมชนที่มีจิตอาสา หัวไว ใจสู้ อันเป็นหัวใจของความสำเร็จในการดำเนินงานพัฒนา เพราะผู้นำชุมชนมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนทุกขั้นตอนของการพัฒนา2. สร้างความศรัทธาและความพร้อมของผู้นำชุมชน สร้างความรู้และความเข้าใจแก่ผู้นำชุมชน โดยเข้าไปใช้ชีวิตร่วมกับชุมชน ร่วมพบปะ พูดคุย และพาไปศึกษาเรียนรู้การดำเนินงานศูนย์โครงการหลวง3. เจ้าหน้าที่ สวพส. ร่วมกับชุมชน ศึกษาสถานการณ์ปัญหา ความต้องการและโอกาสพัฒนาที่แท้จริงของชุมชน จัดทำแผนกลยุทธ์โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการแม่จริม และสร้างการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขออนุญาตใช้พื้นที่และดำเนินการพัฒนาในมิติต่าง ๆ 4. ถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ผู้นำชุมชนและเกษตรกร โดยให้ความรู้องค์ความรู้ต่าง ๆ ของโครงการหลวงประสานงานร่วมกับนักวิชาการรายสาขาเข้ามาติดตามให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด และเรียนรู้จากฐานข้อมูลความรู้การพัฒนาพื้นที่สูงของ สวพส.
“การดำเนินการโดยการสร้างการมีส่วนร่วมของหน่วยงานและคนในชุมชน ถือเป็นแนวทางที่ดีที่ช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดี ก่อให้เกิดความร่วมมือซึ่งกันและกัน อันเป็นปัจจัยหลักให้ชุมชนแม่จริมสามารถลดการเผา ไม่ว่าจะเป็นการเผาวัชพืชหรือเผาป่าก็ตาม ชุมชนแม่จริมจึงเป็นชุมชนที่ได้รับความสนใจและกลายเป็นชุมชนตัวอย่างในเรื่องปลอดการเผา โดยสามารถนำไปต่อยอดกับชุมชนอื่น ๆ ได้ และยังเป็นแนวทางในการลดปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือได้อย่างยั่งยืน” นายวิรัตน์ กล่าวส่งท้าย