รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่พบปะประชาชนพร้อมมอบนโยบายให้แก่เกษตรกรผู้ใช้น้ำ ในพื้นที่อำเภอสารภี เน้นยังคงมีการรณรงค์ในทุกภาคส่วนให้มีการใช้น้ำอย่างมีคุณค่า และส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยและเลี้ยงสัตว์ระยะสั้น
วันนี้ (27 พ.ย. 63) ที่ โครงการบริหารจัดการน้ำฝายแม่ปิงเก่า ตำบลขัวมุง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะลงพื้นที่พบปะประชาชนพร้อมมอบนโยบายให้แก่เกษตรกรผู้ใช้น้ำ โดย นายสำเริง ไชยเสน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับ
สำหรับที่ตั้งหัวงานของฝายแม่ปิงเก่า ในอดีตเมื่อหลายร้อยปีก่อน เป็นเส้นทางลำน้ำปิง ซึ่งเปลี่ยนเส้นทางไหลของน้ำมาทางทิศตะวันตก ลำน้ำเดิมจึงเรียกว่า “แม่ปิงเก่า” ราษฎรได้ทำฝายพื้นเมืองเป็นช่วง ๆ ในลำน้ำแม่ปิงเก่า ตลอดความยาวเกือบ 14 กิโลเมตร ช่วงฤดูน้ำหลากน้ำในแม่น้ำปิงไหลเชี่ยว ทำให้ฝายราษฎรชำรุดเสียหายเป็นประจำทุกปี ดังนั้นกรมชลประทาน จีงได้เข้ามาสำรวจวางโครงการและได้ลงมือก่อสร้าง แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2482 ประกอบด้วย ฝายหินก่อกั้นแม่น้ำปิง ประตูระบายทราย ประตูปากส่งน้ำสายใหญ่ เปิดทำการส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกประมาณ 45,500 ไร่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2483 จนถึงปัจจุบัน
สำหรับการบริหารการจัดการน้ำฤดูแล้ง ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบน (จังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน) ซึ่งพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำปิง ตั้งแต่ด้านท้ายน้ำแม่แฝกจนถึงบริเวณเหนือเขื่อนภูมิพล มีความต้องการใช้น้ำด้านอุปโภค-บริโภค (ประปา) ประกอบด้วยสถานีผลิตน้ำประปา ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ 7 สถานี จังหวัดลำพูน 1 สถานี รวม 8 สถานี และด้านการเกษตรในเขตจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน รวมพื้นที่ 237,233 ไร่ ที่ได้ใช้น้ำจากแม่น้ำปิง แต่เนื่องจากในช่วงฤดูแล้ง น้ำในแม่น้ำปิงมีไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องส่งน้ำจากเขื่อนแม่งัดฯ มาเพิ่มเติมเป็นประจำทุกปี
จากปัญหาดังกล่าวจึงต้องมีการวางแผนการจัดสรรน้ำ โดยบูรณาการร่วมกัน ระหว่างกลุ่มผู้ใช้น้ำ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ในการปฏิบัติตามมาตรการในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง อย่างเคร่งครัด โดยกำหนดมาตรการ คือ กำหนดช่วงเวลา ปิด ปิด การระบายน้ำ เน้นเพื่อใช้ในการอุปโภค-บริโภค ส่วนน้ำเพื่อการเกษตร ได้ขอความร่วมมือเกษตรกร งดการปลูกข้าวนาปรัง ส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย และจะส่งน้ำให้กับไม้ผล ไม้ยืนต้น และรักษาเสถียรภาพของตลิ่งลำน้ำปิง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของตลิ่ง และควบคุมการปิดกั้นทางน้ำที่จะเป็นอุปสรรคในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง พร้อมทั้งขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและควบคุมไม่ให้มีการปล่อยน้ำเสียลงในน้ำ คู คลองและแหล่งน้ำต่างๆ
นอกจากนี้ ทางสถานีสูบน้ำของการประปาส่วนภูมิภาค และการประปาส่วนท้องถิ่น สามารถทำการสูบน้ำได้ตามปกติ และขอความร่วมมือ ในการงดเพาะเลี้ยงปลาในกระชังในแม่น้ำปิงและระบบชลประทาน พร้อมขอความร่วมมือจากสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเพื่อการเกษตรในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบน สูบน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูกตามปฏิทินการสูบน้ำที่สำนักงานชลประทานที่ 1 ได้วางแผนการสูบน้ำไว้แล้ว
ด้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สำหรับภาพรวมถ้าเปรียบเทียนกับปีที่แล้ว พบว่า ปริมาณน้ำที่เป็นน้ำต้นทุนมีน้ำมากกว่าปีที่แล้วแต่การบริหารจัดการน้ำต้องทำให้เป็นระบบ และเข้มงวดมากกว่าเดิม และมีการรณรงค์ในทุกภาคส่วนให้มีการใช้น้ำอย่างมีคุณค่า ทั้งการอุปโภค-บริโภค ด้านการเกษตร ด้านการท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรม ซึ่งยังคงต้องมีการรณรงค์ต่อไป ในส่วนของการปลูกข้าวนาปรัง ให้ดูปริมาณของพื้นที่ ควบคู่ไปกับปริมาณน้ำในพื้นที่เป็นหลัก หากพื้นที่ใดมีปัญหาเรื่องของน้ำ จะมีการส่งเสริมให้ปลูกพืชน้ำน้อย และเลี้ยงสัตว์ระยะสั้น ซึ่งจะเป็นรายได้เสริมให้เกษตรกรเป็นอย่างดี ซึ่งในส่วนนี้ได้เตรียมแผนงานไว้เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญในการพัฒนาพันธุ์ข้าว โดยทางรัฐบาลมีนโยบายการพัฒนาพันธุ์ข้าวภายใน 2 ปีนี้ ให้ล้ำหน้ากว่าประเทศอื่นๆ เนื่องจากพันธุ์ข้าวเป็นความต้องการของตลาด ทั้งปริมาณ คุณภาพ และการลดต้นทุน ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการแล้ว