องคมนตรีประชุมติดตามการดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวง พร้อมขับเคลื่อนโครงการวิจัยกว่า 50 โครงการ เพื่อประโยชน์ต่อเกษตรกรบนพื้นที่สูงและพื้นราบ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง จ.เชียงใหม่
ที่ ห้องกัลปพฤกษ์ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิโครงการหลวง ร่วมประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองและขับเคลื่อนการปฏิบัติงานตามนโยบาย สำหรับในปีงบประมาณ 2564 โครงการหลวงจะได้ดำเนินโครงการวิจัยกว่า 50 โครงการ รวมงบประมาณกว่า 19 ล้านบาท ซึ่งผลการวิจัยเหล่านี้จะเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรทั้งบนพื้นที่สูงและพื้นราบ ส่งผลให้ประชาชนชาวไทยมีวัตถุดิบอาหารที่ดี มีคุณภาพ มีความหลากหลาย ลดการนำเข้าจากต่างประเทศได้ โดยมูลนิธิโครงการหลวงยังคงให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของราษฎร ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งขณะนี้ได้เตรียมขอรับรองขึ้นทะเบียนชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดศัตรูพืช เพื่อทดแทนสารเคมีเกษตร อีก 3 รายการ ได้แก่ พีพี-เบ็บ สำหรับป้องกันมอดเจาะผลกาแฟและแมลงหวี่ขาวในมะเขือเทศ พีพี-บี10 สำหรับป้องกันโรคเหี่ยวเขียวในมะเขือเทศ และ พีพี-ไตรโค สำหรับป้องกัน โรคโคนเน่าในกะหล่ำปลีและโรคเหี่ยวเหลืองในมะเขือเทศ และมีแผนเริ่มใช้ภายในปีนี้
ในการนี้ยังได้ติดตามการดำเนินงานศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก ซึ่งได้ส่งเสริมให้เกษตรกรชนเผ่าปกาเกอญอปลูกพืชเขตหนาว อาทิ เสาวรส สตรอว์เบอร์รี มันเทศญี่ปุ่น ผักกาดขาวปลี คะน้าฮ่องกง เป็นอาชีพทดแทนการทำไร่เลื่อนลอยและปลูกฝิ่น โดยมุ่งวิจัยพัฒนาพืชท้องถิ่นบนพื้นที่สูง เพื่อเพิ่มผลผลิตและความมั่นคงทางอาหารแก่ชุมชน โดยมูลนิธิโครงการหลวง ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง คัดเลือกพันธุ์ข้าวนา ได้แก่ ข้าวพันธุ์บือแม้ว และบือวาเจาะ ซึ่งมีความทนทานต่อแมลงบั่ว ศัตรูพืชสำคัญที่เข้าทำลายยอดข้าวในพื้นที่ นอกจากนี้ยังได้จัดทำแปลงทดสอบสาธิตการปลูกผักกาดหัว แรดิช รวมทั้งแนะนำวิธีการตัดเถามันเทศในระบบปลูกแบบคลุมแปลงแก่เกษตรกร ซึ่งจะเริ่มเก็บเกี่ยวในเดือนตุลาคม
การดำเนินการของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอเกิดจากความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ อาทิ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 จังหวัดตาก และศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ เพื่อราษฎรทุกกลุ่มในพื้นที่ โดยเริ่มจากการสร้างความเข้าใจแก่ผู้นำชุมชนและเยาวชนซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของชุมชนในอนาคต พัฒนากลุ่มเยาวชนเครือข่าย หรือ Young smart farmer ร่วมกับโรงเรียนในพื้นที่ส่งเสริมยุวเกษตรกร พร้อมทั้งพัฒนาอาชีพแก่กลุ่มสตรี และผู้สูงอายุ ในการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยได้รับความร่วมมือจาก ปตท. ในโครงการสวมหมวกให้ดอย ร่วมกันปลูกป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียว รวมทั้งต่อยอดผลจากการถ่ายทอดความรู้ด้านอุตุนิยมวิทยาเบื้องต้น เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลอุตุนิยมวิทยา ในการวางแผนการผลิต ลดการสูญเสียของพืชผลทางการเกษตร ปัจจุบันได้มีการเตรียมติดตั้งเครื่องมืออุตุนิยมวิทยา แบบอัตโนมัติ เพื่อเป็นการเก็บข้อมูลสภาพอากาศ ความชื้น ในพื้นที่ และส่งเสริมกิจกรรมเสียงตามสายเพื่อการสื่อสารข้อมูลที่เป็นประโยชน์ภายในชุมชน
จากนั้นในช่วงบ่าย พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี พร้อมด้วยนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง และตรวจรับงานงวดที่ 5 และ 6 ณ สถานที่ก่อสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จไปกว่า ร้อยละ 39 รวมทั้งตรวจรับงานก่อสร้างอาคาร DATA CENTER งวดที่ 2 ซึ่งสนับสนุนโดย สำนักงาน กสทช. ในการเป็นศูนย์ควบคุมระบบการสื่อสาร และเทคโนโลยีสารสนเทศของกลุ่มอาคารในศูนย์วิจัยฯ เชื่อมต่อกับพื้นที่ดำเนินการอื่นใน 6 จังหวัด อีกด้วย