30 ตุลาคม 2562 นายแพทย์วรัญญู จำนงประสาทพร รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานอนุกรรมการสรรหาระดับจังหวัดในการสรรหากรรมการสุขภาพแห่งชาติที่มาจากกลุ่มผู้แทนองค์กรภาคเอกชน 13 เขตพื้นที่ ณ ห้องประชุมม่วนอกม่วนใจ๋ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่
พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 กำหนดให้มีคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ที่มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี ซึ่ง คสช.ชุดปัจจุบัน กำหนดครบวาระการดำรงตำแหน่ง ในวันที่ 6 ธันวาคม 2562 และตามมาตรา 21 วรรคสาม กำหนดว่า เมื่อกรรมการจะพ้นจากตำแหน่ง ตามวาระให้ดำเนินการเลือกเพื่อแต่งตั้งกรรมการประเภทเดียวกันแทนก่อนวันครบวาระไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน ซึ่งคณะกรรมการ ประกอบด้วย ภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาควิชาชีพ ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนจากองค์กรภาคเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร ทั้งที่เป็นนิติบุคคลและไม่เป็นนิติบุคคล
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ได้ดำเนินการเปิดรับสมัครผู้แทนจากองค์กรภาคเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร จากกลุ่มต่างๆทั้ง 5 กลุ่ม สมัครเข้าร่วมการคัดเลือกเป็นผู้แทนกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยวิธีการสมัครแบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์การสรรหาคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติแบบอิเลคทรอนิกส์ ( http://nhc.nationalhealth.or.th ) ตั้งแต่วันที่ 1 – 30 สิงหาคม 2562 และขยายเวลาการรับสมัครรอบที่ 2 ออกไปถึงวันที่ 13 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา โดยมีผู้สมัครเข้ารับการเลือกกันเองเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งสิ้น 5 ท่าน มีผู้ผ่านคุณสมบัติ จำนวน 2 ท่าน และผู้ไม่ผ่านคุณสมบัติ 3 ท่าน ต่อมาได้มีผู้สมัครทำการอุทธรณ์ และผ่านคุณสมบัติเพิ่มอีก 1 ท่าน
คณะกรรมการสรรหากรรมการสุขภาพแห่งชาติจังหวัดเชียงใหม่ กำหนดให้มีการประชุมเพื่อซักซ้อมขั้นตอนการเลือกกันเองให้ได้ผู้แทนองค์กรภาคเอกชนฯ ในวันที่ 29 ตุลาคม 2562 เวลา 13.30 น. และกำหนดจัดประชุมเพื่อเลือกกันเองให้ได้ผู้แทนองค์กรภาคเอกชนระดับกลุ่ม ระดับจังหวัดและระดับเขต ผ่านระบบการประชุมทางไกลฯ ในวันที่ 30 ตุลาคม 2562 เวลา 08.30-15.00 น. ณ ห้องประชุมม่วนอกม่วนใจ๋ ชั้น 2 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ โดยให้ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์https://nhc.nationalhealth.or.th และผ่านระบบการประชุมทางไกล ทั่วประเทศ ซึ่งผลปรากฎว่า นายมนตรี อิ่มเอก เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้แทนระดับจังหวัดเชียงใหม่ และระดับเขตพื้นที่ 1
ทั้งนี้ กรรมการสุขภาพแห่งชาติจะมีบทบาทในการให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี และขับเคลื่อนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ นโยบาย และมาตรการด้านสุขภาวะของประชาชน ผ่านเครื่องมือพัฒนานโยบายสาธารณะด้านสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ได้แก่ ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ สมัชชาสุขภาพ การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ และการส่งเสริมสิทธิด้านสุขภาพ
เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือสุขภาวะของคนไทย