สังคม » องคมนตรี ติดตามผลการปฏิบัติงาน มูลนิธิโครงการหลวง มุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนบนพื้นที่สูงสู่ความยั่งยืน

องคมนตรี ติดตามผลการปฏิบัติงาน มูลนิธิโครงการหลวง มุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนบนพื้นที่สูงสู่ความยั่งยืน

12 มิถุนายน 2020
641   0

Spread the love

เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2563 สำนักงานมูลนิธิโครงการหลวง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานในการประชุม รับฟังรายงานและติดตามผลการปฏิบัติงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ 2563 มูลนิธิโครงการหลวง เพื่อให้บรรลุสู่เป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์ ระยะ 4 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2562-2565 โดยสรุปการดำเนินงานของโครงการหลวงยังคงมุ่งเน้นเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนบนพื้นที่สูงสู่ความยั่งยืน เกิดผลไปยังประชาชนบนพื้นราบ และเป็นแบบอย่างการพัฒนาด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแก่ชาวโลก โดยเป้าหมายหลักของโครงการหลวงคือ การวิจัยพืชเพื่อส่งเสริมแก่เกษตรกรเป็นอาชีพที่มั่นคง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โครงการหลวงดำเนินการวิจัย 11 หมวดงาน 49 โครงการ เกิดองค์ความรู้ที่นำไปใช้ประโยชน์ในการส่งเสริมเกษตรกร อาทิ การส่งเสริมเกษตรกรในสถานีเกษตรหลวงปางดะ อำเภอสะเมิง และศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแกน้อย อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ปลูกคีนัวพันธุ์ใหม่ 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์เหลืองห้วยต้ม และพันธุ์แดงปางดะ ซึ่งโครงการหลวงได้ขึ้นทะเบียนพันธุ์แล้ว นอกจากนี้ยังได้ขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรเครื่องระเหยสารสกัดจากตัวอย่างพืชเพื่อวิเคราะห์สารตกค้างด้วยท่อลมร้อน ขยายผลเครื่องต้นแบบ จำนวน 6 เครื่อง ไปใช้ยังสถานีวิจัยและศูนย์พัฒนาโครงการหลวง  6 แห่ง รวมทั้งนำองค์ความรู้ที่ได้จากการวิเคราะห์คุณภาพของน้ำสตรอว์เบอร์รี และอายุการเก็บรักษาบรรจุภัณฑ์กล่องปลอดเชื้อไปต่อยอดปรับใช้กับบรรจุภัณฑ์กล่องน้ำผลไม้ดอยคำ และในปลายปีงบประมาณ 2563 โครงการหลวงยังมีแผนขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชใหม่และจดสิทธิบัตรผัก และไม้ดอก อีก 5 ชนิด

จากผลงานวิจัยนำไปสู่การพัฒนาอาชีพบนฐานความรู้ ที่เหมาะสมต่อสภาพภูมิสังคม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในปี 2563 นี้ ได้มีจัดทำฐานข้อมูลฟาร์มเกษตรกรในศูนย์พัฒนาโครงการหลวง โดยมีจำนวนพืชอาหารได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP จากกรมวิชาการเกษตร ทั้งพืชผัก สมุนไพร ไม้ผล กาแฟ ชา พืชไร่ และข้าว รวม 264 ชนิดพืช มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ จากกรมวิชาการเกษตร และสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ 59 ชนิด มาตรฐานฟาร์มปศุสัตว์อินทรีย์ จากกรมปศุสัตว์ ได้แก่ ไก่ไข่และไก่เนื้อ รวมทั้งได้รับการรับรองมาตรฐานอาคารคัดบรรจุผลผลิต จากกระทรวงสาธารณสุข 39 แห่ง มาตรฐาน HACCP และ CODEX จากสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ  12 แห่ง

นอกจากนี้การผลิตพืชโครงการหลวงซึ่งส่งเสริมให้เกษตรกรใช้สารชีวภัณฑ์และสารปลอดภัยในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช พบว่าช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีการนำไปใช้กว่า 2 หมื่นหน่วย และมีปริมาณการใช้สะสมในรอบ 8 เดือน รวมกว่า 1 แสนหน่วย เกินกว่าแผนที่ตั้งไว้ และจะเพิ่มการผลิตเพื่อจำหน่ายแก่เกษตรกรในพื้นที่อื่น ๆ ในการพัฒนาสังคมและชุมชนภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมการจัดทำแผนชุมชนด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม เพื่อนำไปสู่การพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนต่อไป.