สมาคมเครือข่ายนักวิจัยผึ้ง COLOSS ร่วมกับ Ricola Foundation และ Veto pharma จัดประชุมวิชาการนานาชาติเครือข่ายนักวิจัยผึ้ง COLOSS (Prevention of honey bee COlony LOSSes) Asia conference ครั้งที่ 1 และยังมีการสนับสนุนการจัดประชุมโดย Franco-Thai, Erasmus+ Programme, สำนักงานปศุสัตว์ เขต 5, หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่, สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ณ โรงแรมคุ้มภูคำ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ 2563
ภายในงานมีการบรรยาย แสดงวิสัยทัศน์และแลกเปลี่ยนความรู้เชิงวิชาการเกี่ยวกับผึ้ง สุขภาพผึ้ง รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ผึ้ง นอกจากนี้ยังมีปฏิบัติการ (workshop) สำหรับเกษตรกร และผู้สนใจ เกี่ยวกับการตลาดและการค้าน้ำผึ้ง รวมถึงการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) มีนักวิชาการและนักวิจัย กว่า 30 คน จาก 21 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ แคนนาดา ฝรั่งเศส กรีซ อินโดเนเซีย อิสราเอล ญี่ปุ่น พม่า เนปาล เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ โรมาเนีย สโลวีเนีย เกาหลีใต้ สวีตเซอร์แลนด์ ไต้หวัน ไทย ตุรกี อังกฤษ และเวียดนาม ร่วมสัมนา
พร้อมด้วยนักวิชาการหลักจากสมาคม COLOSS ซึ่งเป็นสมาคมระหว่างประเทศไม่หวังผลกำไร ที่มุ่งเน้นการฟื้นฟูสุขภาพของผึ้งในระดับโลก ในสมาคมประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญมากมาย ได้แก่ นักวิจัย สัตวแพทย์ เกษตรกรผู้เชี่ยวชาญ และนักศึกษา มีหน้าที่หลัก คือ การทำงานในระดับโลกเพื่อพัฒนาให้ผึ้งมีสุขภาพที่ดี โดยเฉพาะผึ้งพันธุ์ และมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนให้เรื่องผึ้งและสุขภาพของผึ้งไปสู่ภาครัฐในระดับนโยบาย สร้างความร่วมมือการวิจัยระดับนานาชาติ อบรมและเผยแพร่ความรู้ที่เกี่ยวกับการสร้างสุขภาพที่ดีของผึ้ง นอกจากสมาคมมีเป้าหมายทำงานที่สนใจในด้าน แมลงศัตรูและโรค สภาพแวดล้อม การผสมพันธุ์รวมถึงการอนุรักษ์ผึ้ง ในครั้งนี้นำทีมโดย Professor Dr. Peter Neumann Institute of Bee Health, Vetsuisse Faculty, University of Bern ประธานสมาคม COLOSS ร่วมกับ Assistant Professor Dr. Geoffrey R. Williams Laboratory of insect pollination & apiculture, Department of entomology and plant pathology, Auburn University
รองศาสตราจารย์ ดร. ภาณุวรรณ จันทวรรณกูร อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ COLOSS Voice President and COLOSS-ASIA 2020 Local Organizer กล่าวว่า นี่เป็นครั้งแรกในการจัดงานวิจัยครั้งแรกระดับเอเชีย ในภูมิภาคของเรา เป็นการจัดงานสำหรับนักวิจัยจากทั่วโลกได้มาแสดงผลงานเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน และวันที่สองจะมีการเข้าร่วมของเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งและผู้ที่สนใจ และอยากจะยกระดับมาตรฐานของการวิจัยควบคู่ไปกับเกษตรกรของไทย ในระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปสู่ระดับโลก
“ประเทศไทยได้มีน้ำผึ้งคุณภาพดีมากคือน้ำผึ้งที่มาจากลำไย เพียงแต่ว่าอยู่ในขั้นตอนการวิจัย ซึ่งมีคุณสมบัติดีหลายอย่างทั้งการต้านสารอนุมูลอิสระ และ เชื้อแบตทีเรีย ซึ่งอยู่ในขั้นตอนวิจัยของเรา เพื่อนำไปใช้ในการแพทย์ ซึ่งน้ำผึ้งไทยนั้นมีคุณภาพดีซึ่งหลายชุมชนที่ผลิตตรวจสอบแล้วก็สามารถผ่านเกณฑ์ในคุณภาพดี ซึ่งกระบวนการวิจัยก็หวังว่าจะสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจให้แก่เกษตรกรต่อไป” รองศาสตราจารย์ ดร. ภาณุวรรณ กล่าวทิ้งท้าย.
.