สังคม » น้อมส่งสักการะอาจารย์ใหญ่ในพิธีเคลื่อนขบวนร่างอาจารย์ใหญ่เข้าสู่วัดลัฏฐิวัน (พระนอนขอนตาลศักดิ์สิทธิ์) ประจำปีการศึกษา 2567

น้อมส่งสักการะอาจารย์ใหญ่ในพิธีเคลื่อนขบวนร่างอาจารย์ใหญ่เข้าสู่วัดลัฏฐิวัน (พระนอนขอนตาลศักดิ์สิทธิ์) ประจำปีการศึกษา 2567

8 ธันวาคม 2024
184   0

Spread the love

ร่วมอุทิศจิต น้อมส่งสักการะอาจารย์ใหญ่ในพิธีเคลื่อนขบวนร่างอาจารย์ใหญ่เข้าสู่วัดลัฏฐิวัน (พระนอนขอนตาลศักดิ์สิทธิ์) ประจำปีการศึกษา 2567

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเพลิงศพผู้อุทิศร่างกายเพื่อการศึกษาวิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. จำนวน 675 ร่าง เนื่องในงานทำบุญอุทิศส่วนกุศลและพิธีพระราชทานเพลิงศพอาจารย์ใหญ่ ประจำปี 2567 ณ เมรุวัดลัฎฐิวัน (วัดพระนอนขอนตาลศักดิ์สิทธิ์) อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ โดยมี เจ้าพระคุณพระวิสุทธิวัชราภรณ์ (ณัฐศักดิ์ วิสุทฺธาจาโร) รองเจ้าคณะอำเภอแม่ริม เจ้าอาวาสวัดลัฏฐิวัน เป็นประธานฝ่ายสงฆ์

พร้อมด้วย รศ.นพ.ณัฐพงศ์ โฆษชุณหนันท์ รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. เป็นประธานฝ่ายฆราวาส และ ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ)พญ.ผาสุก มหรรฆานุเคราะห์ ประธานการจัดงานพิธีพระราชทานเพลิงศพอาจารย์ใหญ่ ประจำปี 2567, รศ.อภิชาติ สินธุบัว หัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช., ศ.นพ.เอกสิทธิ ธราวิจิตรกุล รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. และ ผศ.ดร.สุภารัตน์ วังศรีคูณ คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มช. พร้อม คณาจารย์ นักศึกษาแพทย์ และญาติของอาจารย์ใหญ่ร่วมพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลในช่วงเช้า

โดยเมื่้อวันที่ 7 ธันวาคม 2567 เวลา 07:30 น. ในพิธีเคลื่อนขบวนร่างอาจารย์ใหญ่เข้าสู่วัดลัฏฐิวัน (พระนอนขอนตาลศักดิ์สิทธิ์) ประจำปีการศึกษา 2567
โดยเริ่มต้นเคลื่อนขบวนนำร่างอาจารย์ใหญ่จาก ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. ไปยังวัดลัฏฐิวัน (วัดพระนอนขอนตาลศักดิ์สิทธิ์) ก่อนอัญเชิญร่างอาจารย์ใหญ่ขึ้นสู่เมรุ ต่อด้วยพิธีทอดผ้า และพระราชทานเพลิง ในช่วงบ่าย โดยมี เจ้าพระคุณพระวิสุทธิวัชราภรณ์(ณัฐศักดิ์ วิสุทฺธาจาโร) รองเจ้าคณะอำเภอแม่ริม เจ้าอาวาสวัดวัดลัฏฐิวัน เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วย เจ้าพระคุณพระสุนทรกิจโกศล ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม กรุงเทพมหานคร เป็นรองประธานฝ่ายสงฆ์ และ ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมด้วย รศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เป็นรองประธานฝ่ายฆราวาส ร่วมทอดผ้าไตรบังสุกุล ตามด้วยอัญเชิญไฟพระราชทาน พิธีประชุมเพลิง และวางดอกไม้จันทน์ในลำดับสุดท้าย เพื่อรำลึกถึงครูผู้ไร้ลมหายใจ ผู้อุทิศร่างเป็นตำราให้เป็นวิทยาทาน แก่การศึกษาเล่าเรียนของนักศึกษา จำนวน 675 ร่าง โดยภายในงานมีการแสดงจากศูนย์แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไทยเชียงใหม่ และ จัดโรงทาน

 


สำหรับบรรยากาศในพิธีเคลื่อนขบวนร่างอาจารย์ใหญ่เข้าสู่วัดลัฏฐิวัน (พระนอนขอนตาลศักดิ์สิทธิ์) ประจำปีการศึกษา 2567 ช่างฟ้อนเชียงใหม่รวมตัวจัดการแสดงรับอาจารย์ใหญ่ สู่พระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพ โดยได้จัดการแสดงชุด”สักการะวันทนา ดอกบัวทอง” ซึ่งเป็นการแสดงร่วมสมัย ที่นำเอาวัฒนธรรมการสักการะหรือการไหว้ด้วยดอกไม้มาแสดง ในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพอาจารย์ใหญ่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การแสดงสื่อถึงการต้อนรับและอัญเชิญดวงจิตของอาจารย์ใหญ่ทุกดวงขึ้นสู่สรวงสวรรค์

ด้วยเหล่าช่างฟ้อนที่เสมือนนางอัปสร มาอัญเชิญและสักการะด้วยดอกบัว ซึ่งเป็นดอกไม้ที่ใช้สักการะชั้นสูง ดั่งคำที่ว่า “เกิดในตม ตายบนหิ้ง” ประดิษฐ์และออกแบบท่ารำโดย (ครูเจ) ยศวีร์ วาณิชย์พุฒิกุล หัวหน้าช่างฟ้อนดอกเอื้องต๋าเหิน พร้อมทั้งตัวแทนนักเรียนจากชมรมนาฏศิลป์ นางสาวสิริพร ก่ำแก้ว จากโรงเรียนกาวิละวิทยาลัย นางสาวเมธาวี ยอมใจอยู่ จากโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย และการแสดง รำฉุยฉายพราหมณ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการร่ายรำที่งดงามของตัวละครประเภทพระ

จากบทพระราชนิพนธ์เบิกโรงดึกดำบรรพ์ เรื่อง พระคเณศร์เสียงา ในสมัยรัชกาลที่ 6 มีเนื้อเรื่องย่อว่า ปรศุรามเจ้าแห่งพราหมณ์ทะนงตัวว่าเป็นที่โปรดปรานของพระอิศวร คิดจะเฝ้าในโอกาสที่ไม่สมควร พระคเณศร์ได้ห้ามปราม จนเกิดการวิวาท ปรศุรามขว้างขวานโดนงาซ้ายพระคเณศร์หักสะบั้น พระอุมากริ้วปรศุราม จึงสาปให้หมดกำลังล้มกลิ้งดั่งท่อนไม้ พระนารายณ์ทรงเล็งเห็นและเกรงว่าคณะพราหมณ์จะขาดผู้ปกป้อง อีกทั้งทรงทราบว่าพระอุมาเมตตาต่อเด็ก จึงแปลงกายเป็นพราหมณ์น้อย ซึ่งเป็นปฐมเหตุให้เกิดการรำฉุยฉายพราหมณ์ขึ้น เนื้อเรื่องต่อไปพระอุมาประทานพรให้พราหมณ์ และสามารถแก้ไขคำสาปให้กลับกลายเป็นดีในที่สุด ลีลาท่ารำเชื่อกันว่าเป็นผลงานของพระยานัฏกานุรักษ์

ต่อมากรมศิลปากรได้ปรับปรุงท่าร่ายรำ ให้เป็นลีลาท่ารำของตัวพระ ที่มีลักษณะของความเป็นหนุ่มน้อยที่มีความงดงาม และท่ามีนวยนาดกรีดกราย การแสดงทั้งสองการแสดงจัดขึ้นเพื่อเป็นการอัญเชิญและน้อมส่งอาจารย์ใหญ่