การศึกษา » มช. จับมือ GC และ วปอ. 60 ริเริ่มโครงการ “ลูกช้าง THINK TO TURN LEARN TO ทิ้ง” ปลูกฝังพฤติกรรมคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี ในมหาวิทยาลัย

มช. จับมือ GC และ วปอ. 60 ริเริ่มโครงการ “ลูกช้าง THINK TO TURN LEARN TO ทิ้ง” ปลูกฝังพฤติกรรมคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี ในมหาวิทยาลัย

10 มิถุนายน 2024
188   0

Spread the love

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2567 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ร่วมกับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 60 (วปอ.60) ร่วมปลุกพลังคนรุ่นใหม่สร้างจิตสำนึกดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม เดินหน้าโครงการ “ลูกช้าง THINK TO TURN LEARN TO ทิ้ง” ภายใต้แนวคิดส่งเสริมการแยกขยะและให้ความสำคัญการจัดการขยะในมหาวิทยาลัย เพื่อปลูกฝังพฤติกรรมคัดแยกและการบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธี ให้กับสังคม

โครงการ “ลูกช้าง THINK TO TURN LEARN TO ทิ้ง” มุ่งสร้างความตระหนักรู้และปลุกจิตสำนึกในการจัดการขยะและรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนให้แก่นักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตลอดจนเยาวชนรุ่นใหม่ในสังคม โดย ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดี มช. และ ดร.ชญาน์ จันทวสุ รองกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ สายงานความยั่งยืนองค์กร GC ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการจัดการขยะในโครงการดังกล่าว โดยได้รับเกียรติจาก พลเอกวีรชน สุคนธปฏิภาค ผู้แทน วปอ. 60 พร้อมด้วย คณาจารย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้บริหาร GC ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ณ Exhibition Hall อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ (จ.เชียงใหม่)

ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กล่าวว่า มช. มีวิสัยทัศน์ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยนวัตกรรม โดยตั้งเป้าปลุกจิตสำนึกนักศึกษาให้หันมาใช้พลาสติกอย่างรู้คุณค่า เพื่อช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยได้รับการสนับสนุนจากอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) และ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ERDI-CMU) เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรมการจัดการขยะในมหาวิทยาลัย ให้กับนักศึกษา และบุคลากรในมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 60 หรือ (วปอ. 60) ผู้นำในการดำเนินกิจกรรมช่วยเหลือและสร้างประโยชน์กลับคืนสู่สั่งคม (CSR) มาอย่างต่อเนื่อง ยังได้เข้าร่วมสนับสนุนการดำเนินโครงการ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) โดยมุ่งเน้นการลดปริมาณขยะที่ถูกทิ้งอย่างไม่เหมาะสม และมุ่งเพิ่มอัตราขยะรีไซเคิลให้มากขึ้น

ด้าน ดร.ชญาน์ จันทวสุ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานความยั่งยืนองค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC เผยว่า GC ผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์ที่มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนด้วยสมดุล ด้าน ESG มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ในปี 2050 พร้อมนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ โดยได้ริเริ่มและสร้างแนวทางปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาขยะในประเทศไทยร่วมกับภาคสังคม ผ่าน ‘GC YOUเทิร์น แพลตฟอร์มบริหารจัดการพลาสติกแบบครบวงจร’ และสนับสนุนให้เกิดการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธีให้กับคนรุ่นใหม่ โดยการเก็บกลับพลาสติกใช้แล้วให้เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลและอัพไซเคิล รวมถึงการนำกลับมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เพิ่มมูลค่า โดย GC และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกันเริ่มรณรงค์และสร้างการรับรู้ด้านการจัดการขยะในกิจกรรมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย เช่น งานรับน้องขึ้นดอย งานสานศิลป์ กิ๋น แอ่ว อู้ มาตั้งแต่ปลายปี 2566

และด้วยการความร่วมมือริเริ่มโครงการ “ลูกช้าง THINK TO TURN LEARN TO ทิ้ง” ของทุกภาคส่วนครั้งนี้ GC จึงได้นำความรู้และความเชี่ยวชาญมาช่วยส่งเสริมการจัดการขยะภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นับเป็นการต่อยอดความร่วมมือเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของนักศึกษา บุคลากร ภายในมหาวิทยาลัย และยังเป็นการสร้างโอกาสขยายผลไปยังชุมชนรอบรั้วภายนอกมหาวิทยาลัยได้อีกด้วย

ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ กล่าวเสริมว่า มช. มุ่งเน้นการนำนวัตกรรมสู่การใช้จริง ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญ ในการสร้างโครงการที่นำเอานวัตกรรมการจัดการขยะพลาสติกจากทั้งฝั่ง มช.และฝั่ง GC มาบูรณาการร่วมกัน หรือที่เรียกว่า Open Innovation เพื่อสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยกลไก CSR Package ของ มช. ที่เชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัย และหน่วยงานเอกชนเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการสร้างประโยชน์กลับคืนสู่สังคมผ่านกิจกรรมสร้างการรับรู้ด้านการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี ซึ่งการผสานความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการผลักดันให้เกิดการจัดการขยะที่ยั่งยืนในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเป็นต้นแบบแนวทางที่ดีให้แก่สถาบันการศึกษา หรือ หน่วยงานอื่นๆ ที่สามารถนำไปขยายผลต่อยอดสู่การใช้งานในพื้นที่ต่อไป รวมทั้งโครงการนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมให้กับนักศึกษาและเยาวชนรุ่นใหม่ อีกด้วย