ภาคีเครือข่ายภาครัฐ อาทิ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดสุโขทัย พร้อมด้วยองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) จังหวัดน่าน, จังหวัดสุโขทัย, จังหวัดเลย และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกันจัดงาน “Crafts Fair” “เล่น แป๋ง แต่ง ฮ้อง” โดยมี นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วย นายเฉลิมศักดิ์ สุรนันท์ ผู้แทนนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และ รศ. ดร. วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่หัวหน้าโครงการนครเชียงใหม่เมืองสร้างสรรค์ ขององค์การ UNESCO ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ให้เกียรติร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2562 ณ ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (เจ้าน้อยมหาอินทร์ ณ เชียงใหม่) กลางเวียงเชียงใหม่
การจัดงานครั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์งานสร้างสรรค์เมืองเชียงใหม่ตามที่องค์การ UNESCO เล็งเห็นความสำคัญเกี่ยวกับงานด้านหัตถกรรม และศิลปะพื้นบ้าน เพื่อส่งเสริมคุณค่าของชุมชนให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ภายใต้แนวคิด “Preserve… For The Future เล่น แป๋ง แต่ง ฮ้อง ไปให้ถึงอนาคต” ผ่านการนำเสนอศิลปะ วัฒนธรรม หัตถกรรม และวิถีชีวิตของคนเชียงใหม่ ในรูปแบบกิจกรรมนิทรรศการ และปฏิสัมพันธ์ ระหว่างวันที่ 7-15 ธันวาคม 2562
ในงานมีกิจกรรมร่วมพูดคุย และบรรยาย ถึงการสร้างสรรค์เครือข่ายงานหัตถกรรม ที่จะนำไปสู่การต่อยอดแนวความคิดเมืองสร้างสรรค์ขององค์การ UNESCO ที่ให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน เพื่อส่งเสริม คุณค่าของชุมชนหัตถกรรม และก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และผลักดันเยาวชนคนรุ่นใหม่ มีความภาคภูมิใจในชุมชนของตนเอง อันจะนำไปสู่การรักษา การอนุรักษ์ การเรียนรู้ภูมิปัญญา การสืบสาน และสามารถต่อยอดงานหัตถกรรมกับสังคมปัจจุบัน ที่ยังคงอัตลักษณ์อันเป็นตัวตนของแต่ละพื้นที่ได้อย่างลงตัว ภายใต้แนวคิด “Preserve… For The Future เล่น แป๋ง แต่ง ฮ้อง ไปให้ถึงอนาคต” ผ่านการนําเสนอศิลปะ วัฒนธรรม หัตถกรรม และวิถีชีวิตของคนเชียงใหม่ ในรูปแบบกิจกรรมนิทรรศการ และปฏิสัมพันธ์ ที่ผู้เข้าร่วมงานมีส่วนร่วมกับงาน สร้างประสบการณ์ และการเรียนรู้เกี่ยวกับงานหัตถกรรม ศิลปะพื้นบ้าน และ วัฒนธรรมของคนล้านนา เพื่อให้เกิดการับรู้ถึงคุณค่า สืบทอด รักษา และต่อยอดอย่างสร้างสรรค์ต่อไป
อีกทั้งยังมีกิจกรรมเชิงปฏิบัติการตลอดการจัดงานตั้งแต่วันที่ 7-15 ธันวาคม 2562 อาทิ การเย็บหมอน-นอนหนุน, การเย็บถุงย่ามน้อย, การพิมพ์พระ, การทำพวงกุญแจนกคุ้ม, กิจกรรมปั้นดิน ปันสุข, การทำเครื่องประดับและตุ้มหู จากผ้าตีนจก, การทำผ้าห่อคัมภีร์, เรียนทำแก้วจีน งานศิลปะประดับกระจกแบบโบราณ, การทำเชือกถักลีซู, การขูดลาย ฮายดอก, การทำกระเป๋า-กระติก-กะเหรี่ยง และการทำหมวก “ว่อม” หมวกแบบโบราณ แล้วมาร่วม “เล่น แป๋ง แต่ง ฮ้อง ไปให้ถึงอนาคต” กับการส่งมอบคุณค่าเป็นมรดรจากอดีต การรักษาให้เป็นมรดกของอนาคต ที่จะยังไม่ลืมรากเหง้า และแสดงออกถึงความเป็นเมืองเชียงใหม่ได้อย่างภาคภูมิ.