สำนักงานท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ ดึงผู้บริหารท้องถิ่น ร่วมขับเคลื่อนเดินหน้าสู่ความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ด้านผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ตั้งเป้าลดการเผาในเขตเมืองให้ได้ทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์
วันนี้ (15 ม.ค. 67) ที่ โรงแรมเชียงใหม่ออคิด นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ซึ่งสำนักงานท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-16 มกราคม 2567 เพื่อให้ผู้บริหารท้องถิ่น และผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีความรู้ความเข้าใจ รวมถึงได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่ความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) โดยมี นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เข้าร่วม
นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ในปี 2567 จังหวัดเชียงใหม่ ได้ตั้งเป้าหมายในการลดค่าความสูญเสียที่เกิดขึ้นในส่วนต่างๆ ลงให้ได้ 50 เปอร์เซ็นต์ของปี 2566 ที่ผ่านมา โดยเน้นไปที่ 4 ประเด็นหลัก คือ จุดความร้อน พื้นที่เผาไหม้ จำนวนวันที่ค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน และ จำนวนครั้งที่มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โดยขณะนี้การขับเคลื่อนการดำเนินงานถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีและเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ จะเห็นได้จากจำนวนของจุดความร้อนที่ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน โดยตั้งแต่วันที่ 1-15 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา เกิดจุดความร้อนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เพียง 20 กว่าจุดเท่านั้น แต่ในปี 2566 มีจุดความร้อนเกิดขึ้นกว่า 90 จุด ทำให้เห็นว่าในปีนี้มีจุดความร้อนลดลงกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่น่ายินดีอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ ผลการดำเนินการดังกล่าวเกิดจากการวางแผนที่ดีและการบูรณาการร่วมกันของทุกภาคส่วน โดยในปีนี้ถึงแม้ว่าจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่ต้องการเผาวัสดุทางการเกษตรในพื้นที่ทำกินตามระบบบริหารจัดการเชื้อเพลิงในระบบ Fire-D ได้ แต่ปรากฏว่า เพียงไม่กี่วันก็มีการลงทะเบียนพื้นที่ขอทำการเผาเกือบ 2 แสนไร่ ซึ่งหากจะให้ทำการเผาเป็นจำนวนมากไล่เลี่ยกันน่าจะไม่เป็นผลดี ดังนั้น จึงได้ให้ทางอำเภอ ชวนผู้บริหารท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่เข้าไปสำรวจและพูดคุยกับชาวบ้านเพื่อที่จะหาทางออกร่วมกันโดยไม่ต้องใช้วิธีการเผา หรือลดปริมาณพื้นที่เผาให้เหลือน้อยที่สุดเฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ตามปฏิบัติการ “เดินหน้าเข้าหาไฟ ลดการเผา” เช่น ในพื้นที่เกษตร หากพื้นที่ใดสามารถไถกลบได้ก็ให้ใช้การไถกลบแทนการเผา หากชาวบ้านไม่มีกำลังเพียงพอและต้องการความช่วยเหลือใดๆ ก็ให้ประสานขอความช่วยเหลือมายังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือทางจังหวัดได้ ขณะที่ในเขตเมืองและชุมชน ก็ขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ เพิ่มรอบของรถเก็บขยะเพิ่มเติมอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง เพื่อบริการนำเศษขยะที่นอกเหนือจากขยะทั่วไปออกมาจากพื้นที่ ไม่ให้หลงเหลือเป็นเชื้อเพลิงให้สามารถเผาได้ ซึ่งในส่วนของพื้นที่เขตเมืองนี้ ก็เป็นส่วนแรกที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องปราศจากการเผาให้ได้ทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ โดยส่วนสำคัญคือพี่น้องประชาชนทุกคนต้องให้ความร่วมมือและช่วยเหลือกัน หากพบเบาะแสเกี่ยวกับการเผาก็ให้รีบแจ้งผู้บริหารและผู้นำท้องที่ทันที