เศรษฐกิจ » บสย. เผยผลงาน 9 เดือน ม.ค.-ก.ย 66 อนุมัติค้ำ 98,640 ล้านบาท ชูปัจจัยความยั่งยืน “แก้หนี้” SMEs ต่อลมหายใจธุรกิจ

บสย. เผยผลงาน 9 เดือน ม.ค.-ก.ย 66 อนุมัติค้ำ 98,640 ล้านบาท ชูปัจจัยความยั่งยืน “แก้หนี้” SMEs ต่อลมหายใจธุรกิจ

3 พฤศจิกายน 2023
347   0

Spread the love

บสย. ปลื้ม “ค้ำประกันสินเชื่อ” 9 เดือน ระหว่าง ม.ค. – ก.ย. 2566 ขยายตัวต่อเนื่อง อนุมัติวงเงิน 98,640 ล้านบาท ช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อ 80,717 ราย สร้างสินเชื่อในระบบ แสนล้านบาท ชูปัจจัยความยั่งยืน “บสย.พร้อมช่วย” แก้หนี้ SMEs ต่อลมหายใจธุรกิจ

นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ผลดำเนินงานค้ำประกันสินเชื่อ 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 2566) ภายใต้กลยุทธ์เชิงรุกขับเคลื่อนการค้ำประกันสินเชื่อด้วย Digital Technology เพิ่มศักยภาพช่วยผู้ประกอบการ SMEs การเข้าถึงแหล่งทุนในระบบขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งด้านยอดค้ำประกันสินเชื่อ จำนวนลูกค้าใหม่ การช่วยลูกหนี้เข้าร่วมโครงการปรับโครงสร้างหนี้ แก้หนี้แก้หนี้ยั่งยืน “บสย. พร้อมช่วย” และการสนับสนุนความรู้ทางการเงิน SMEs ผ่านศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs บสย. F.A. Center มีการขยายตัวต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ ประกอบด้วย

ด้านผลดำเนินงาน “ค้ำประกันสินเชื่อ” ระหว่าง ม.ค.-ก.ย. 2566 อนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ รวม 98,640 ล้านบาท สร้างมูลค่าทางเพิ่มเศรษฐกิจ ช่วย SMEs เข้าถึงแหล่งทุนในระบบ รวม 80,717 ราย (79% เป็นผู้ประกอบการ Micro ที่ บสย. ค้ำประกัน วงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท ) สร้างสินเชื่อในระบบ 108,915 ล้านบาท คิดเป็น 1.10 เท่าของยอดค้ำประกันสินเชื่อ สร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจ รวม407,383 ล้านบาท คิดเป็น 4.13 เท่า ของยอดค้ำประกัน (สัดส่วนการช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อเทียบกับจำนวน SMEs ทั้งประเทศ 25.19% ) รักษาการจ้างงาน 748,647 ตำแหน่ง โดยมีลูกค้าค้ำประกันสะสม ณ 30 กันยายน 2566 จำนวน 803,023 ราย

กลุ่มอุตสาหกรรมค้ำประกันสูงสุด 3 ลำดับแรก มาจาก ภาคบริการ ภาคเกษตรกรรม และภาคการผลิต ดังนี้ 1. ภาคการบริการ วงเงินค้ำ 25,310 ล้านบาท ประกอบด้วย ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง 42% ธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร 11% ธุรกิจขนส่ง 10% โรงแรมหอพัก 4% บริการท่องเที่ยว 1% และบริการอื่น ๆ 32% 2.ภาคเกษตรกรรม วงเงินค้ำ 8,833 ล้านบาท ประกอบด้วย กลุ่มธุรกิจการค้าสินค้าเกษตรอื่น ๆ 24% ธุรกิจชา กาแฟ เกลือ 20% การค้าส่งผักผลไม้ 19% ปศุสัตว์ 19% การค้าส่งข้าว 7% และประมง 12% 3.การผลิตสินค้าและการค้าอื่น ๆ วงเงิน 8,616 ล้านบาท ประกอบด้วย กลุ่มธุรกิจการค้าวัสดุก่อสร้าง 35%

การค้าปลีกแผงลอยและตลาดสด 20% การค้าอื่น ๆ 18% การผลิตอื่น ๆ 14% การค้าของเก่า 6% และการค้าโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ 6%
นอกจากนี้ ยังประสบผลสำเร็จจากการดำเนินงานตามมาตรการช่วยลูกหนี้แก้หนี้ยั่งยืน ภายใต้มาตรการ “บสย. พร้อมช่วย” โดยมี SMEs ได้รับการประนอมหนี้ จำนวน 11,609 ราย คิดเป็น 99% ของจำนวน SMEs เข้าร่วมโครงการ วงเงิน 4,559 ล้านบาท ชูปัจจัยแก้หนี้อย่างยั่งยืนเพื่อให้ SMEs ที่กำลังประสบปัญหาการชำระหนี้ผ่านพ้นวิกฤต ภายใต้แพลตฟอร์มแก้หนี้ ผ่านมาตรการ 3 สี แก้หนี้ยั่งยืน คิดอัตราดอกเบี้ยการผ่อนชำระ 0% ผ่อนนาน 7 ปี ผ่อนค่างวดเริ่มต้นที่ 500 บาท และ ตัดต้นก่อนตัดดอก
ขณะที่ผลดำเนินงานโครงการบริการให้คำปรึกษาทางการเงิน SMEs ฟรี โดย บสย. F.A.Center เพื่อส่งเสริมความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) การให้บริการเพื่อพัฒนาศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถของ SMEs ทุกกลุ่ม มีผู้เข้าร่วมโครงการ 15,066 ราย
ผลดำเนินงาน บสย. ในรอบ 9 เดือน ประสบผลสำเร็จด้วยดีตามเป้าหมายช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งทุน โดย บสย. ค้ำประกัน ที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว ภายใต้วิสัยทัศน์ เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงเงินทุนและโอกาสให้แก่ SMEs เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมการขับเคลื่อนสู่นวัตกรมองค์กรด้วย Digital Technology ยกระดับการบริการสู่ Digital SMEs Gateway ควบคู่ไปกับการพัฒนาช่องทางเชื่อมโยงผู้ประกอบการ SMEs ด้วย Line OA @tcgfirst ผ่านโครงการต่างๆอาทิ โครงการ Trush Biz ของธนาคารแห่งประเทศไทยและกลุ่มสถาบันการเงิน ตอบโจทย์แนวทางการพัฒนาการเข้าถึงสินเชื่อ บนแพลตฟอร์มทางการเงิน Digital Lending ควบคู่ไปกับแผนพัฒนา TCG Digital Credit Guarantee ของ บสย.ตลอดปี 2566