เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2566 ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลโป่งแยงใน (รพ.สต.โป่งแยงใน) อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารจังหวัดเชียงใหม่พร้อมคณะผู้บริหาร บุคลากรผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ นำสื่อมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ชมการสาธิตการรักษาทางการแพทย์ระยะทางไกล(Telemedicine) ให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนที่อยู่ห่างไกล โดย อาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัย การรักษาและการป้องกันโรค รวมถึงการศึกษาวิจัย และเพื่อประโยชน์สำหรับการศึกษาต่อเนื่องของบุคลากรทางการแพทย์
นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่าตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ได้รับถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จากสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 62 แห่ง ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ กองสาธารณสุข โดยอบจ.เชียงใหม่ มีนโยบายด้านการรักษาสุขภาพและอนามัยของประชาชน พัฒนาศักยภาพ การให้บริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลส่งเสริม”สุขภาพดีใกล้บ้าน”สุขภาพตำบล ในสังกัดอบจ.เชียงใหม่ เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีภูมิลำเนาห่างไกลสามารถข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ทั่วถึง ผ่านการพัฒนาระบบการผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital transformation) โดยแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เพื่อลดภาระการเดินทางของผู้ป่วยที่ต้องเดินทางมารับบริการยังโรงพยาบาลอำเภอหรือจังหวัด โดยการให้บริการแพทย์ทางไกลนี้มุ่งเน้นในกลุ่มโรคที่ไม่มีความชับซ้อนหรือโรคเรื้อรังที่ต้องเดินทางไปพบแพทย์เป็นประจำ เช่น ไข้หวัดทั่วไป ความดันโลหิตสูง และสามารถจ่ายยาผ่านตู้ยาอัตโนมัติได้ทันที
นายกอบจ.เชียงใหม่ กล่าวอีกว่า ในอดีตที่ผ่านมา รพ.สต.บ้านโป่งแยงใน ได้รับสนับสนุนแพทย์จาก โรงพยาบาลนครพิงค์มาให้บริการ เดือนละ 4 ครั้ง ทุกวันอังคาร ต่อมาเมื่อวันที่ 2 ต.ค 2565 รพ.สต.บ้านโป่งแยงใน ได้โอนเข้าสังกัด อบจ.เชียงใหม่ ทำให้ รพ.นครพิงค์ไม่สามารถสนับสนุนแพทย์มาให้บริการได้ ด้วยเหตุนี้อบจ.เชียงใหม่ จึงได้จ้างแพทย์อาวุโส ที่อยู่นอกระบบราชการ มาให้บริการแทน แต่เนื่องจากรพ.สต.โป่งแยงในอยู่ไกลจึงไม่มีแพทย์ขึ้นมาให้บริการเพราะเดินทางไกล ไม่คุ้มกับค่าใช้จ่าย จึงทำให้รพ.สต.บ้านโป่งแยงใน ไม่มีแพทย์ให้บริการผู้ป่วย และเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566 ตนได้ ขึ้นมาเยี่ยมเจ้าหน้าที่ รพ.สต.บ้านโป่งแยงใน อย่างไม่เป็นทางการ เพื่อสอบถามข้อมูลทั่วไปของพื้นที่ สภาพความเป็นอยู่ของเจ้าหน้าที่ และปัญหา
“อบจ.ได้ซื้อตู้อุปกรณ์เทเลเมดิซีนไว้แล้ว วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 ผมและทีมผู้บริหาร ผอ.กองสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ ผอ.สำนักช่างและเจ้าหน้าที่ ได้ขึ้นมาดูความพร้อมของ สถานที่ในการจัดวางตู้ตรวจระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ดูความพร้อมเรื่องการปรับปรุงสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งได้พบปะผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่และอสม.เพื่อชี้แจงและประชาสัมพันธ์การนำเครื่องตรวจระบบแพทย์ทางไกล (Telemedicine) มาไว้ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านโป่งแยงในแห่งนี้ ”นายพิชัย กล่าว
อบจ.เชียงใหม่รับถ่ายโอนรพ.สต.มา 62 แห่ง แต่บางแห่งไม่มีพยาบาลวิชาชีพจึงได้เปิดรับสมัครพยาบาลวิชาชีพพิเศษขึ้นมา 100 กว่าคน บรรจุเป็นข้าราชการท้องถิ่นเพราะไม่ใช้บัญชีของก.พ.มีการเปิดสอบไป 2 รอบ และตามนโยบายของตนที่อยากลดความแออัดของคนเข้ามาในเมืองและดูแลชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกลจึงจ้างหมอไปประจำรพ.สต.อาทิตย์ละ 1-2 วัน และตั้งหน่วยบริการประจำหรือ CUP ซึ่งเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิคู่สัญญากับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สป.สช.)ที่ต้องมีทั้งแพทย์ 1 คน ทันตกรรมและเภสัชกรด้วย โดยจะมีการประชุมร่วมกันในวันที่ 22 มิ.ย.66 นี้อีกครั้ง
ด้านนายแพทย์จอมชัย ลือชูวงค์ แพทย์เฉพาะทางจากศูนย์ศรีพัฒน์ มหาราชนครเชียงใหม่ กล่าวว่า การให้บริการคนไข้ของหมอผ่าน CUP ตู้นี้ก็เปรียบเสมือนคลินิกย่อมๆ ที่มีระบบคัดกรองผู้ป่วยตั้งแต่มาพบหมอ โดยให้คนไข้เสียบบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อตรวจเช็คสิทธิในการรักษา จากนั้นก็จะสอบถามอาการของคนไข้ที่มาตรวจเพื่อทำการคัดกรองแบบส่งให้กับโรงพยาบาล ซึ่งจะมีการให้ตรวจวัดความดัน ชั่งน้ำหนักเหมือนกับไปตรวจที่รพ.หมดแล้วตู้นี้ก็จะส่งข้อมูลมาให้หมอๆ ก็จะดูว่าอาการดังกล่าวนั้นตรงกับหมอด้านไหน ซึ่งอบจ.เชียงใหม่มีฐานแพทย์หรือหมอเฉพาะทางกว่า 100 คน พอหมอรับคำปรึกษาก็จะมีการพูดคุยสอบถามคนไข้และสั่งจ่ายยา ซึ่งตู้ยานี้จะมียากว่า 60 ชนิด และหมอจะตรวจดูสต๊อกยาและสั่งยาได้ เมื่อหมอกดสั่งยาแล้ว คนไข้ก็นำใบสั่งยานั้นมากดรับยาได้ที่หน้าตู้ ซึ่งในการมารับการบริการก็จะมีเจ้าหน้าที่รพ.สต.เป็นผู้อำนวยความสะดวกให้ด้วย
“ในช่วงทดลอง 2 เดือนแรก หมอมาตรวจและให้บริการรักษากับคนไข้ที่มาที่นี่ซึ่งจะมีทั้งชนเผ่าและคนพื้นเมือง 90% สามารถสั่งยาได้เลย จะมีแค่ 10% ที่อาการซับซ้อนจากหลายโรคก็จะให้ไปตรวจที่โรงพบาบาล ซึ่งเครื่องตรวจระบบแพทย์ทางไกลนั้นจะเป็นโรคทั่วไป เป็นเวชศาสตร์หรือ OPD Case ไม่เกี่ยวกับการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ต้องไปโรงพยาบาล ซึ่งการตรวจรักษาสั่งจ่ายยาให้กับคนไข้ 1 คนจะใช้เวลาไม่เกิน 10 นาทีนับตั้งแต่คนเข้าเปิดประตูเข้าไปคุยกับหมอผ่านตู้นี้”นพ.จอมชัย กล่าว
ขณะที่นายบุญสืบ ศรีไชยวงค์ ผู้อำนวยการ รพ.สต.โป่งแยงใน กล่าวว่า โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านโป่งแยงใน ได้โอนย้ายมาสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ซึ่งพื้นที่นี้มีประชากรในความรับผิดชอบ 10,021 คนจาก 10 หมู่บ้าน เป็นรพ.สต.ขนาด L ได้เงินอุดหนุนจากรัฐเดือนละ 3 หมื่นบาทหรือปีละประมาณ 3 แสนกว่าบาทที่เอามาบริหารในองค์กร ซึ่งงบฯที่จำกัดทำให้ไม่สามารถที่จะปรับปรุงและพัฒนาระบบการให้บริการค่อนข้างลำบาก พอมาสังกัดอบจ.ก็ได้รับเงินอุดหนุนจากอบจ.เชียงใหม่ปีละ 1 ล้านบาท นอกจากนี้ในส่วนของการปรับปรุง ก่อสร้างต่างๆ ทางอบจ.เชียงใหม่ก็มาดูแลจัดการให้ นอกจากนี้ยังมีเงินรายหัวจากค่ารักษาตามสิทธิที่สป.สช.ให้อีกก็ทำให้การบริการรักษาดูแลพี่น้องประชาชนทำได้สะดวกมากยิ่งขึ้น