เศรษฐกิจ » AOT เจ้าภาพจัดงานประชุม ” The Route Development Forum for Asia 2023 “

AOT เจ้าภาพจัดงานประชุม ” The Route Development Forum for Asia 2023 “

14 กุมภาพันธ์ 2023
326   0

Spread the love

การจัดงาน ” The Route Development Forum for Asia 2023 ” เป็นงานประชุมเจรจาธุรกิจด้านการบินพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ภายใต้พันธมิตรเครือข่ายทางการบิน และการท่องเที่ยวจากทั่วโลกร่วมงานประชุมฯ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 – 16 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2554 (ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่) จังหวัดเชียงใหม่

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT , นายศรัณย เบ็ญจนิรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย , นายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) , มัลคอม อัน กรรมการผู้จัดการอาวุโสฝ่ายความคิดริเริ่มเชิงกลยุทธ์ระดับโลกของโบอิ้ง และ สตีเวน สมอล ผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรม Routes ร่วมกันเป็นงาน ” The Route Development Forum for Asia 2023 ” ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่AOT กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้จํานวนผู้โดยสารที่เดินทางผ่านท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ AOT ลดลงจาก 142 ล้านคนในปี 2561 เหลือเพียง 72 ล้านคนในปี 2562 ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วระหว่างปี 2563 – 2565 ปริมาณผู้โดยสารลดลงในอัตราร้อยละ 59 เมื่อเทียบกับจำนวนผู้โดยสารรวมในปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 การเดินทางของผู้โดยสารมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเห็นได้จากการที่หลายๆ ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยมีนโยบายเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการ รวมถึงปริมาณนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนสายการบินกลับมาทำการบินในเส้นทางบินเดิม และเพิ่มเส้นทางบินใหม่ ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจการบินและธุรกิจท่องเที่ยวให้สามารถฟื้นตัวและดำเนินกิจการได้ดีขึ้น

ดังนั้น การจัดงานประชุมเจรจาธุรกิจ The Route Development Forum for Asia 2023 ซึ่งเป็นงานประชุมเจรจาธุรกิจด้านการบินพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย จะเป็นเวทีเจรจาธุรกิจระหว่างท่าอากาศยาน สายการบิน หน่วยงานด้านการท่องเที่ยวในธุรกิจการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จำนวนกว่า 800 ราย ได้มีโอกาสพบปะ เจรจา แลกเปลี่ยนมุมมอง และแลกเปลี่ยนวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practice) อันจะนำไปสู่การปรับปรุงเครือข่ายทางการบินและการดำเนินธุรกิจ ทำให้เกิดการพัฒนาการบริการในอนาคตที่ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ งานประชุมฯ ยังเป็นการสนับสนุนการสร้างเครือข่ายทางการบิน (Route Networks) และการท่องเที่ยวของภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ซึ่งจะส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เช่น การจ้างงาน การแสดงความเชื่อมโยงของระบบขนส่ง การแสดงความพร้อมในการรองรับการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ อีกทั้งยังเป็นการประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียงให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

ทั้งนี้ สนามบินหลัก 6 แห่งของประเทศไทย ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ ซึ่งถือเป็นประตูสู่ประเทศไทย มีความยินดีที่ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมเจรจาธุรกิจ The Route Development Forum for Asia 2023 ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่จะได้นำเสนอศักยภาพของจังหวัดเชียงใหม่และประเทศไทยสู่ระดับสากลให้แก่นานาประเทศ โดยมุ่งหวังสร้างเครือข่ายทางการบิน และการท่องเที่ยว ตลอดจนการทำการตลาดเชิงรุกด้วยการเจรจาธุรกิจให้สายการบินสนใจเปิดเส้นทางการบินใหม่ หรือเพิ่มเที่ยวบินในเส้นทางที่ทำการบินอยู่เดิม ณ สนามบินทั้ง 6 แห่งของ AOT รวมทั้งเจรจาธุรกิจร่วมกับสนามบินเป้าหมาย (City Pair) โดยมุ่งเน้นสนามบินที่มีศักยภาพในการรองรับสายการบินใหม่ และเพิ่มจำนวนเที่ยวบิน เพื่อส่งเสริมตลาดด้านการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมทั้งสร้างและกระตุ้นรายได้ให้ AOT ภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19

สำหรับงานประชุม The Route Development Forum for Asia 2023 จะมีการอภิปรายระหว่างผู้แทนจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (Pacific Asia Travel Association: PATA) สภาสมาคมท่าอากาศยานระหว่างประเทศ (Airport Council International: ACI) สมาคมสายการบินภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (Association of Asia Pacific Airlines: AAPA) สายการบิน สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ผู้บริหารสนามบิน รวมไปถึงผู้ผลิตอากาศยาน ในประเด็นเกี่ยวกับสถานการณ์การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกภายหลังโรคโควิด-19 การผ่อนคลายมาตรการเดินทางของประเทศต่างๆ ซึ่งทุกภาคส่วนต้องมีการปรับตัว ทั้งในด้านมาตรการการเดินทาง การเพิ่มเส้นทางบินใหม่ แผนการจัดฝูงบิน การวางกลยุทธ์ใหม่ด้วยการพัฒนาศักยภาพให้รอบด้าน รวมถึงการทำให้ธุรกิจการบินสามารถฟื้นตัวจนกลับสู่สภาวะปกติ และเติบโตได้อย่างยั่งยืน