จังหวัดเชียงใหม่ ประชุมหารือคณะทำงานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เพื่อพิจารณาคำขออนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์ GI ให้กับผู้ผลิตและผู้ประกอบการสินค้าลิ้นจี่จักรพรรดิฝางและส้มสายน้ำผึ้งฝาง และ กาแฟเทพเสด็จ
วันที่ 25 ม.ค. 66 นายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานประชุมคณะกรรมการอำนวยการสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่ 1 เพื่อร่วมกันพิจารณาการขออนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย (GI) ของผู้ผลิตและผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยการประชุมครั้งนี้มีสินค้าที่ขอรับการพิจารณา จำนวน 2 รายการ คือ 1. ลิ้นจี่จักรพรรดิฝางและส้มสายน้ำผึ้งฝาง และ 2.
โดยในส่วนของลิ้นจี่จักรพรรดิฝางและส้มสายน้ำผึ้งฝาง ซึ่งเป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อของอำเภอฝางมาหลายหลายปี และเป็นสินค้าที่คาดว่าจะสามารถยื่นคำขอขึ้นทะเบียนสินค้า GI ของจังหวัดได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการรับฟังความคิดเห็นและข้อมูลต่างๆ จากกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ในอำเภอฝางแล้ว แต่ถึงแม้ว่าสินค้าทั้ง 2 ตัวจะเป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อของอำเภอฝาง แต่ยังมีการปลูกในพื้นที่อำเภอรอบข้าง ดังนั้น ต้องคุยกับผู้รับจ้างให้แน่ชัดในเรื่องของขอบเขตพื้นที่ดำเนินการและชื่อของสินค้า เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเจ้าของพื้นที่ โดยจะมีการแต่งตั้งคณะทำงานควบคุมตรวจสอบสินค้าทั้ง 2 ชนิด อีกครั้ง ซึ่งถ้าผ่านการพิจารณาและได้รับการขึ้นทะเบียนทะเบียนสินค้า GI จากกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว จะทำให้ลิ้นจี่จักรพรรดิฝางและส้มสายน้ำผึ้งฝาง เป็นสินค้า GI รายการที่ 6 ของจังหวัดเชียงใหม่ ต่อจาก ผ้าตีนจกแม่แจ่ม ร่มบ่อสร้าง ศิลาดลเชียงใหม่ กาแฟเทพเสด็จ และข้าวก่ำล้านนา
ในส่วนของกาแฟเทพเสด็จ ซึ่งเป็นสินค้าขึ้นชื่อของตำบลเทพเสด็จ อำเภอดอยสะเก็ด นั้น เคยได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นสินค้า GI ของจังหวัดเชียงใหม่แล้ว และในที่ประชุมครั้งนี้มีผู้ผลิตและผู้ประกอบการที่ผ่านการตรวจประเมินให้สามารถใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย (GI) ทั้งในส่วนของการต่ออายุใช้ตรา GI และ ขอใช้ตรา GI ครั้งแรก รวมทั้งสิ้น 40 ราย แบ่งเป็น ผู้ผลิต 28 ราย ผู้ประกอบการ 2 ราย และ ผู้ผลิตและผู้ประกอบการ 10 ราย
โดย นายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การที่สินค้าทั้ง 2 รายนี้ จะได้รับการพัฒนายกระดับให้เป็นสินค้า GI ถือเป็นโอกาสสำคัญของพี่น้องเกษตรกร เพราะจะช่วยให้สินค้ามีมูลค่าที่สูงขึ้น รวมถึงสามารถทำการค้าขายในตลาดระดับพรีเมียมได้ อย่างไรก็ตาม หากได้รับการเป็นสินค้า GI แล้ว สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งคือ การควบคุมคุณภาพของสินค้าให้ได้รับมาตรฐาน เพราะนั่นหมายถึงโอกาสทางการค้า ที่จะสามารถกระจายผลผลิตไปสู่ตลาดในระดับที่สูงขึ้นได้ พร้อมกันนี้ อยากให้ทุกภาคส่วนช่วยกันมองหาสินค้าที่คาดว่าจะสามารถขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI มาเพิ่มเติมให้กับจังหวัดเชียงใหม่อีกด้วย