สกู๊ปพิเศษ » “แม่ข่า”  สายน้ำแห่งชีวิตของชุมชน

“แม่ข่า”  สายน้ำแห่งชีวิตของชุมชน

23 พฤศจิกายน 2022
527   0

Spread the love

ที่ไหนมีน้ำ  ที่นั่นมีชุมชน เพราะสายน้ำหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ มีน้ำดื่มน้ำใช้ มีแหล่งอาหาร สามารถทำเกษตรกรรมได้ และมีความสะดวกด้านการคมนาคม จึงเกิดวิถีชีวิตที่ผูกพันกับแม่น้ำลำคลองมาตั้งแต่อดีต

คนไทยสมัยก่อนผูกพันกับแม่น้ำ ไม่เพียงแค่ใช้ประโยชน์เพื่อการบริโภค ทำการเกษตร หรือการเดินทางขนส่งเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายมิติทั้งด้านสังคม วัฒนธรรม มานุษยวิทยา การท่องเที่ยว ไปจนถึงมิติทางด้านเศรษฐกิจ การอยู่ร่วมกันของกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย เกิดประเพณีวัฒนธรรมมากมายเกี่ยวกับสายน้ำ มีการส่งต่อและผสมผสานทางวัฒนธรรม วิถีชีวิตริมคลอง การทำประมงพื้นบ้าน เกิดการท่องเที่ยว เกิดเป็นเศรษฐกิจที่หล่อเลี้ยงครอบครัวและชุมชน ฯลฯ แม่น้ำจึงไม่ได้เป็นเพียงสายน้ำไหล แต่ยังหมายถึงเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงชีวิต

“แม่ข่า” เป็นหนึ่งในลำน้ำสายสำคัญอันเป็นชัยมงคลของการสร้างเมืองเชียงใหม่ ในอดีต “คลองแม่ข่า” ทำหน้าที่ทั้งเป็นคูเมืองชั้นนอกที่ช่วยปกป้องเมืองเชียงใหม่ เป็นลำน้ำที่ช่วยระบายน้ำจากเขตตัวเมืองไปยังแม่น้ำปิง และเป็นแหล่งน้ำที่ใช้เพื่อเกษตรกรรมและการอุปโภคบริโภค ด้วยระยะทางยาวกว่า 30 กิโลเมตรของแม่น้ำแม่ข่าแบ่งเป็นช่วงต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เกี่ยวข้องกับคนชุมชนริมคลอง 43 ชุมชน ซึ่งในช่วงช่วงกลางน้ำระยะทาง 10.2 กิโลเมตร อยู่ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ เริ่มตั้งแต่หมู่บ้านสุขิโต ถนนสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ไปจนถึง บริเวณถนนมหิดลก่อนถึงเขตเทศบาลตำบลป่าแดด มีชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมคลอง 26 ชุมชน ทั้งคนเมือง และกลุ่มชาติพันธุ์อาข่า ลีซู ล่าหู่ ไทใหญ่ และเมียนมา ส่วนใหญ่ทำอาชีพเป็นแรงงาน ทำงานรับจ้าง ขายของที่ระลึก ขายของในย่านท่องเที่ยวไนท์บาซ่า ถนนคนเดิน เป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเมืองเชียงใหม่

เมื่อเมืองเจริญมากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาการรุกล้ำลำน้ำแม่ข่าเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย มีการสร้างบ้านเรือนที่รุกล้ำพื้นที่คลองทำให้ปิดกั้นทางเดินน้ำ ประกอบกับมีการสร้างถนนหนทางเพื่อการคมนาคมที่สะดวกขึ้น คลองแม่ข่าจึงค่อยๆ ลดความสำคัญลงจนเกิดปัญหาน้ำเน่าเสีย และเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องเรื้อรังนานหลายสิบปี

แม่ข่าเปลี่ยน เชียงใหม่เปลี่ยน

เมื่อหลายหน่วยงานเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของคลองแม่ข่าและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนริมคลอง จึงเริ่มเกิดโครงการเพื่อฟื้นฟูคลองแม่ข่าให้กลับมาสดใสดังเดิม เทศบาลนครเชียงใหม่ โดย นายอัศนี บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างระบบท่อรวบรวมน้ำเสียสองฝั่งคลองแม่ข่าพร้อมปรับภูมิทัศน์ ระยะที่ 1 ถนนระแกง – ประตูก้อม (สถานีสูบน้ำเสียที่ 6) เป็นโครงการต้นแบบที่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมว่าสามารถฟื้นฟูน้ำในคลองให้กลับมาสะอาด และปรับภูมิทัศน์ริมคลองให้ดีขึ้นได้ โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมที่สำคัญ เพราะเป็นการอนุรักษ์คลองประวัติศาสตร์ไปพร้อมกับการฟื้นฟูโบราณสถาน ฟื้นฟูคลอง ฟื้นฟูทรัพยากร ฟื้นฟูให้ผู้คนอยู่ได้ เกิดการสร้างชีวิตใหม่ สร้างระบบใหม่ เป็นการฟื้นฟูและพัฒนาที่ผสมความเก่าและใหม่ในโลกปัจจุบัน ทั้งยังมีมิติของการสร้างเศรษฐกิจเกิดขึ้นในชุมชนริมคลอง

แม้จะไม่มีภาพของการเล่นน้ำในคลองหรือการคมนาคมทางเรือแบบในอดีต แต่คลองแม่ข่ายุคใหม่ก็ได้ทำหน้าที่ในมิติใหม่ตามการพัฒนาของผู้คนและสังคม แม่ข่าโฉมใหม่ระยะทางประมาณ 750 เมตรที่ถูกจัดการเรื่องระบบบำบัดน้ำเสียและปรับภูมิทัศน์ใหม่ สวยงาม และปลอดภัย เป็นความสวยงามจากการผสมผสานของชีวิตเล็กๆ ที่ทำให้เกิดวิถีชีวิต ตลอดริมคลองสามารถปลูกผักปลูกต้นไม้ได้ มีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีร้านอาหาร มีกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน เกิดเป็นการท่องเที่ยวที่ชุมชนเป็นหัวใจหลัก นำเศรษฐกิจเข้ามาในชุมชน ทำให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี เกิดวิถีชีวิตใหม่ของชุมชนริมคลองแม่ข่าที่ปรับตัวไปตามการพัฒนาของสังคม

คลองแม่ข่ากลับมาเป็นคลองที่มีชีวิตจิตใจอีกครั้ง ไม่ใช่ชีวิตจากเส้นสายที่โค้งเว้าของแม่น้ำในคลอง หรือความลดหลั่นของหลังคาบ้านเรือน เพราะแม่ข่าไม่ใช่ไม่เพียงแค่ลำน้ำ แต่แม่ข่าคือชีวิตของชุมชน เพราะชุมชนทำให้วัฒนธรรมยังคงอยู่ มิติของวิถีชีวิตจึงมีความสำคัญ และเมื่อโครงการต้นแบบนี้สำเร็จอย่างสมบูรณ์ ก็จะเป็นตัวอย่างที่สามารถต่อยอดไปถึงการพัฒนาชุมชนอื่นๆ ในทิศทางที่ดี เพื่อการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ต่อไป.