ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ย้ำการปล่อยโคมลอย/โคมควัน ในช่วงเทศกาลยี่เป็ง ขอให้ยึดปฏิบัติตามประกาศจังหวัดเชียงใหม่ และ พ.ร.บ.การเดินอากาศ (ฉบับที่ 14) อย่างเคร่งครัด โดยห้ามปล่อยเด็ดขาดในพื้นที่เขตปลอดภัยในการเดินอากาศ และพื้นที่เฝ้าระวังพิเศษ ระดับ 1
นายวิจิตต์ แก้วไทรเทียม ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแนวทางในการปฏิบัติเพื่อป้องกันผลกระทบจากการปล่อยโคมลอย โคมไฟ โคมควัน (ว่าวฮม) ในเทศกาลลอยกระทงหรือประเพณียี่เป็ง ว่า ขอให้ยึดปฏิบัติตาม พระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 14) ซึ่งปรับปรุงใหม่เมื่อปีพ.ศ.2562 โดยในมาตรา 33 ได้เพิ่มความตามมาตรา 59/1 แห่งพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ.2497 และประกาศจังหวัดเชียงใหม่ เรื่อง มาตรการป้องกันและการรักษาความปลอดภัยและการดูแลความสงบเรียบร้อยของประชาชน ในการจุดและปล่อยโคมลอย โคมไฟ โคมควัน (ว่าวฮม) หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกันขึ้นไปสู่อากาศ(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563 ซึ่งห้ามจุดและปล่อยโคมลอย โคมไฟ โคมควัน (ว่าวฮม) หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกันขึ้นไปสู่อากาศ ในเขตปลอดภัยในการเดินอากาศ และพื้นที่เฝ้าระวังพิเศษระดับ 1
ซึ่งพื้นที่เฝ้าระวังพิเศษระดับ 1 ดังกล่าว คือบริเวณแนวขึ้น–ลง สนามบิน ที่อยู่ห่างจากทางขึ้น–ลงของเครื่องบิน ข้างละ4.6 กิโลเมตร เป็นระยะทางยาว 18.5 กิโลเมตร จากหัวทางวิ่งทั้ง 2 ด้าน ครอบคลุมพื้นที่ในตำบลต่างๆ 6 อำเภอได้แก่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ 16 ตำบล อำเภอสารภี 5 ตำบล อำเภอสันทราย 1 ตำบล อำเภอหางดง 11 ตำบล อำเภอแม่ริม 5 ตำบล อำเภอสันป่าตอง 1 ตำบล ส่วนพื้นที่ที่ไม่ได้อยู่ในเขตปลอดภัยในการเดินอากาศขอให้ปฏิบัติตามประกาศจังหวัดเชียงใหม่ ในเรื่องมาตรการป้องกันและการรักษาความปลอดภัยและการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ของประชาชนในการจุดและปล่อยโคมลอย โคมไฟ โคมควัน (ว่าวฮม) หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกันขึ้นสู่อากาศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563 โดยมีสาระสำคัญเช่น การกำหนดพื้นที่ห้ามปล่อยโคม กำหนดชนิด ขนาด และจำนวน และกำหนดระยะเวลา ในการจุดหรือปล่อย คือ ในช่วงเทศกาลลอยกระทงหรือยี่เป็ง ให้ปล่อยได้ในคืนวันลอยกระทงเล็กและวันลอยกระทงใหญ่ ระหว่างเวลา 19.00-01.00 น. ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 8 และ 9 พฤศจิกายน2565 โดยต้องแจ้งขออนุญาตจากนายอำเภอท้องที่ก่อน 30 วัน หลังจากได้รับอนุญาตจากนายอำเภอท้องที่ ต้องแจ้งท่าอากาศยานเชียงใหม่ หรือศูนย์ควบคุมการบินเชียงใหม่ก่อน 14 วัน เพื่อจะได้ออกประกาศเตือนนักบิน (NOTAM) ต่อไป
สำหรับการรณรงค์เรื่องการปล่อยโคมลอยให้ปลอดภัย ก่อนหน้านี้ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ได้มีหนังสือขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่อยู่ในเขตความปลอดภัยในการเดินอากาศ ประชาสัมพันธ์แก่ประชาชนให้รับทราบถึงแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการปล่อยโคมลอยในช่วงเทศกาลลอยกระทง รวมทั้งได้ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมวลชนและ Social Media โดยสามารถสอบถาม และตรวจสอบพื้นที่ปล่อยโคมลอย ในจังหวัดเชียงใหม่ ได้ที่ส่วนมาตรฐานท่าอากาศยานและอาชีวอนามัย ท่าอากาศยานเชียงใหม่ หมายเลขโทรศัพท์ 0 5392 2000 ต่อ 23000 หรือ 23431 ในวันเวลาราชการ ขณะเดียวกันยังได้เพิ่มรอบความถี่ในการตรวจสอบบริเวณพื้นที่ของสนามบินทั้งภายในเขตการบินและนอกเขตการบิน โดยเฉพาะในเขตการบินหรือ Airside จะมีการออกตรวจทางวิ่งทางขับจากเดิมวันละ 4 ครั้ง เป็น 10 ครั้ง เพื่อตรวจเก็บซากโคมที่อาจถูกกระแสลมพัดมาตก ในพื้นที่เขตการบิน พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังการเก็บโคมลอยและโคมควัน โดยพร้อมออกไปเก็บซากโคมลอยได้ทันที หากได้รับแจ้งจากหอบังคับ การบินหรือจากนักบิน
นอกจากนี้ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ยังได้ขอความร่วมมือสายการบินต่างๆ พิจารณาปรับเปลี่ยนเวลา ทำการบินในช่วงเทศกาลลอยกระทงเพื่อลดความเสี่ยงและหลีกเลี่ยงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการปล่อยโคมลอย โดยระหว่างวันที่ 8-9 พฤศจิกายน 2565 มีเที่ยวบินที่แจ้งยกเลิกและเปลี่ยนแปลงเวลาการบิน รวมทั้งสิ้น 69 เที่ยวบิน คิดเป็นร้อยละ 31 ของเที่ยวบินที่ทำการบินทั้งหมดในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นเที่ยวบินยกเลิกจำนวน 55 เที่ยวบิน และเที่ยวบินที่เปลี่ยนแปลงเวลาทำการบินจำนวน 14 เที่ยวบิน และมีเที่ยวบินพิเศษเพิ่มเติม 6 เที่ยวบิน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าสายการบินจะยกเลิกและเปลี่ยนแปลงเวลาทำการบิน ในช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว แต่สนามบินเชียงใหม่ก็ยังเป็นสนามบินสำรองให้อากาศยานที่มีเหตุขัดข้องจำเป็นต้องขอลงจอดฉุกเฉิน ตลอด 24 ชั่วโมง ดังนั้นจึงไม่สามารถปล่อยโคมลอยในเขตปลอดภัยในการเดินอากาศโดยเด็ดขาด หากมีการฝ่าฝืนปล่อยโคมลอยในเขตปลอดภัยในการเดินอากาศ และพื้นที่เฝ้าระวังพิเศษระดับ 1 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ท่าอากาศยานเชียงใหม่ พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมและสืบสานประเพณีลอยกระทง ซึ่งเป็นประเพณี ที่ดีงามของไทย ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องคำนึงถึงความปลอดภัยต่อผู้โดยสารและอากาศยาน ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญ ของการบินและจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นจากนานาชาติ ดังนั้นจึงขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนยึดปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2562 และประกาศจังหวัดเชียงใหม่ปี 2559 อย่างเคร่งครัดต่อไป