สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ มอบชุดท้องฟ้าจําลอง เพื่อการเรียนรู้ระดับโรงเรียน ให้แก่โรงเรียน 40 แห่ง ทั่วประเทศ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา
วันนี้ (27 ส.ค. 65) ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานกล่าวแสดงความยินดี และเปิดพิธีมอบชุดท้องฟ้าจําลอง เพื่อการเรียนรู้ระดับโรงเรียน ประจำปี 2565 ให้แก่โรงเรียน 40 แห่งทั่วประเทศ สำหรับนำไปประกอบการเรียนการสอนด้านดาราศาสตร์ภายในโรงเรียน และเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 โดยมี ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ พร้อมด้วย นายวรญาณ บุญณราช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และผู้แทนจาก 40 โรงเรียน ให้การต้อนรับ
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า โครงการท้องฟ้าจำลองเพื่อการเรียนรู้ระดับโรงเรียน ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญที่ใช้เป็นสื่อในการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจ พร้อมทั้งสนับสนุนส่งเสริมเยาวชนคนรุ่นใหม่ ให้มีกระบวนการคิดเป็นเหตุเป็นผลแบบวิทยาศาสตร์ รวมทั้งได้สร้างความตระหนักและตื่นตัวทางดาราศาสตร์ในประเทศ อันจะนำไปสู่การพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยในอนาคต
ด้าน ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า โครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติได้จัดขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 โดยได้สนับสนุนชุดอุปกรณ์ประกอบท้องฟ้าจำลองแบบ DIY ให้โรงเรียนต่างๆ นำไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ดาราศาสตร์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเป็นการต่อยอดมาจากโครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ ที่ได้มอบกล้องโทรทรรศน์ พร้อมสื่อและอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ ให้กับโรงเรียน 560 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัดทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นสื่อและอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ที่จะทำให้ครูในโรงเรียนทั่วประเทศ ได้มีโอกาสฝึกทักษะการใช้อุปกรณ์ทางดาราศาสตร์พื้นฐาน ที่จะสามารถนำไปประยุกต์ในการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนต่อไป