เศรษฐกิจ » บสย.รับรางวัลเกียรติยศ Thailand Quality Class : TQC การบริหารสู่ความเป็นเลิศ ประจำปี 2564 มุ่งมั่นต่อยอดความเป็นเลิศด้วยดิจิทัล เทคโนโลยี

บสย.รับรางวัลเกียรติยศ Thailand Quality Class : TQC การบริหารสู่ความเป็นเลิศ ประจำปี 2564 มุ่งมั่นต่อยอดความเป็นเลิศด้วยดิจิทัล เทคโนโลยี

4 มีนาคม 2022
397   0

Spread the love

บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class : TQC) ประจำปี 2564 จากสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ นับเป็นรางวัลเกียรติยศแห่งความภาคภูมิใจ สะท้อนความมุ่งมั่นต่อการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน ที่มีความโดดเด่น 3 ด้าน ด้านวิสัยทัศน์ผู้นำองค์กร ด้านการจัดการที่มุ่งเน้นความสำเร็จ และ ด้านการดำเนินการที่คำนึงถึงการส่งมอบคุณค่าให้แก่ลูกค้าเป็นสำคัญ
ผลจากการประเมินของคณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ซึ่งใช้เกณฑ์การประเมิน 2 มิติ คือมิติกระบวนการ และ มิติผลลัพธ์ ได้ให้คะแนนแก่ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ที่โดดเด่น 3 ด้าน คือ
1. ด้านผู้นำระดับสูงนำองค์กรอย่างมีวิสัยทัศน์ มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงเงินทุนและโอกาสทางธุรกิจแห่งชาติให้แก่ SMEs เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน โดยดำเนินการอย่างเป็นระบบในการกำหนดและถ่ายทอดวิสัยทัศน์และค่านิยม สร้างบรรยากาศที่มุ่งเน้นลูกค้า กำหนดความคาดหวังระดับสูง สร้างสภาพแวดล้อมเพื่อให้องค์กรประสบความสำเร็จ วางแผนกลยุทธ์และถ่ายทอดสู่การปฏิบัติในทุกระดับขององค์กรรวมถึงผู้ส่งมอบ ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานที่สำคัญ การปรับปรุงระบบงานจนได้รับการรับรองมาตรฐานระบบเทคโนโลบยีสารสนเทศ (ISO/IEC27001-2013) เพื่อรับรองการพัฒนาเข้าสู่ยุค Digital และเทคโนโลยีทางการเงิน (Fin Tech) ในอนาคต
2. ด้านการจัดการองค์กร เพื่อมุ่งเน้นความสำเร็จในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อยที่มีศักยภาพให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนและประเภทสินเชื่อที่หลากหลายขึ้น ด้วยการค้ำประกันสินเชื่อในแบบต่าง ๆ อย่างเหมาะสม พร้อมทั้งปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจเป็น New Business Model ปรับโครงสร้างองค์กรและปรับปรุงสมรรถนะของบุคลากรตามแผน HR Transformation และนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาปรับปรุงกระบวนการทำงานและระบบงานอย่างทั่วทั้งองค์กรและเพิ่มช่องทางการสื่อสารและบริการลูกค้าแบบออนไลน์ ยกระดับขีดความสามารถโดยการเทียบเคียงกับองค์กรค้ำประกันสินเชื่อชั้นนำในต่างประเทศ สามารถตอบสนองการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายเชิงกลยุทธ์ สร้างความสมดุลย์ระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญ เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการ รองรับปริมาณธุรกรรมจำนวนมาก ลดความผิดพลาด รักษารอบเวลาได้ตามที่กำหนด เพื่อให้มีขีดความสามารถรองรับการขับเคลื่อนโมเดลธุรกิจใหม่ในอนาคต
3.องค์กรมีการดำเนินการที่คำนึงถึงการส่งมอบคุณค่าให้แก่ลูกค้าเป็นสำคัญ โดยเชื่อมโยงกระบวนการทำงานภายในทุกหน่วยงานอย่างเป็นระบบ มีการรับฟังเสียงและวิเคราะห์เพื่อให้เข้าใจความต้องการและความคาดหวังของลูกค้าและพันธมิตรสถาบันการเงิน แล้วนำมาจัดทำข้อกำหนดของผลิตภัณฑ์ทำให้เกิดการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่หลากหลายและครอบคลุมการค้ำประกันสินเชื่อของลูกค้าทุกกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงนำมาปรับปรุงกระบวนการทำงานต่าง ๆ เช่น การค้ำประกันสินเชื่อ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่ออำนวยความสะดวกแก่พันธมิตร สถาบันการเงิน การให้คำปรึกษาแก่ลูกค้าผ่านช่องทางต่าง ๆ สะท้อนถึงสมรรถนะหลักขององค์กรที่ช่วยสนับสนุนการพัฒนารูปแบบการค้ำประกัน เพื่อตอบสนองความต้องการของ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อย
นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า นับเป็นรางวัลเกียรติยศที่นำความภาคภูมิใจมาสู่องค์กร และยังเป็นก้าวสำคัญต่อการยกระดับพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน โดยแผนงานและเป้าหมายในปี 2565 บสย. มุ่งมั่นต่อยอดความเป็นเลิศอย่างเป็นระบบด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดนิ่งในการก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 3 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ภายใต้วิสัยทัศน์ “เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงเงินทุนและโอกาสทางธุรกิจแห่งชาติให้แก่ SMEs เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน” เพื่อก้าวสู่การเป็นองค์กรที่เป็นเลิศและมีประสิทธิภาพสูง ผลักดันและขับเคลื่อนองค์กรอย่างต่อเนื่องภายใต้แนวคิด “TCG Fast & First รวดเร็ว รอบคอบ เป็นที่หนึ่งในใจ SMEs” ขับเคลื่อนองค์กรด้วย ดิจิทัล เทคโนโลยี พัฒนาและต่อยอดโครงสร้างหลักที่สำคัญขององค์กร โดยเพิ่มขีดความสามารถใหม่ในการแข่งขันขององค์กร (Core Competency) ให้ความสำคัญต่อบุคลากร ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า พร้อมทั้งการพัฒนากระบวนการทำงานแบบอัตโนมัติ ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ค้ำประกัน ที่ตอบโจทย์ความต้องการแบบเฉพาะกลุ่ม (Segmentation) ด้วยกลยุทธ์การบริหารจัดการแบบยืดหยุ่น (Resilience) ที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง.