สังคม » สวพส. คว้า 4 รางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2564 ผลงานแห่งความสำเร็จการพัฒนาพื้นที่สูง

สวพส. คว้า 4 รางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2564 ผลงานแห่งความสำเร็จการพัฒนาพื้นที่สูง

22 กันยายน 2021
520   0

Spread the love

นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง และคณะ เข้าร่วมพิธีมอบรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2564 ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Zoom Meeting) โดยมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดงานและมอบรางวัล

นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง เปิดเผยว่า สำหรับในปีนี้สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ได้รับรางวัลถึง 2 สาขา ทั้งหมด 4 รางวัล แบ่งเป็น ระดับดีเด่น จำนวน 1 ผลงาน และ ระดับดี จำนวน 3 ผลงาน ได้แก่ รางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ระดับดีเด่น ประเภทสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม “ชุมชนไม้มีค่า ดูแลรักษา สร้างรายได้”

รางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ระดับดี ประเภทสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม “มั่นคงด้วยอาหาร ธนาคารในป่า รักษาทรัพยากร”

รางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ระดับดี ประเภทสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม “สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ภายใต้ที่ดินจำกัด”

รางวัลบริการภาครัฐ ระดับดี ประเภทพัฒนาการบริการ “ฟื้นฟูป่า พัฒนาน้ำ แก้จนคนบนพื้นที่สูง”

“ทั้งนี้ในช่วงการรับรางวัลมีคณะผู้บริหารจาก สวพส. และผู้แทนหน่วยงานเครือข่ายความร่วมมือ ที่เกี่ยวข้องกับ สวพส. ร่วมรับรางวัลและแสดงความยินดีกับผลงานที่ได้รับรางวัล ซึ่งรางวัลที่ได้รับแสดงให้เห็นถึงการดำเนินงานของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ที่มุ่งมั่นและทุ่มเททำงานในชุมชนบนพื้นที่สูงอย่างมีประสิทธิภาพเข้าถึงพี่น้องเกษตรกร ส่งผลให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ สวพส. จะเดินหน้าปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้ชุมชนบนพื้นที่สูงของประเทศไทย ให้มีคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น” นายวิรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับรางวัลเลิศรัฐ (Public Sector Excellence Awards: PSEA) เป็นรางวัลแห่งเกียรติยศที่มอบให้แก่หน่วยงานภาครัฐที่มุ่งมั่นปฏิบัติราชการจนประสบความสำเร็จและมีความเป็นเลิศแห่งหน่วยงานภาครัฐทั้งปวง โดยจะมอบให้แก่หน่วยงานภาครัฐที่สามารถพัฒนาคุณภาพการบริการ และระบบการบริหารงานเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว โปร่งใส เป็นธรรม และพึงพอใจให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่งเสริมการบริหารราชการให้มีระบบหรือวิธีการที่ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชน จนเกิดการทำงานร่วมกันในลักษณะหุ้นส่วนและความร่วมมือ ตลอดจนพัฒนาระบบราชการให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืนประกอบด้วย 3 สาขา ได้แก่ สาขาบริการภาครัฐ สาขาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ และสาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม.