เศรษฐกิจ » หอการค้าแถลงภาวะเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ครึ่งแรกปี 2564 และแนวโน้มไตรมาส 3-4

หอการค้าแถลงภาวะเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ครึ่งแรกปี 2564 และแนวโน้มไตรมาส 3-4

7 กันยายน 2021
523   0

Spread the love

เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2564  ที่ห้องประชุม 1 ชั้น 2 สนง.หอการค้าฯ นายสุรนิตย์ วังวิวัฒน์ ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย ดร.กอบกิจ อิสรชีวัฒน์ รองประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ , นายสมชายทองคำคูณ รองประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ , นายสมศักดิ์ วงศ์ปัญญาถาวร รองประธานบริษัท ไทยทูพี จำกัด และที่ปรึกษาคณะกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ภาคเอกชน ร่วมแถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ ไตรมาสที่ 1 -2 และแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 3 และ 4 ประจำปี 2564

นายสุรนิตย์ วังวิวัฒน์ กล่าวว่าจาก การระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงทั่วโลกต้นปี 2563  ส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่หดตัวรุนแรงและสูญเสียรายได้ ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อเนื่องหดตัวสูง ทั้งการบริโภคและการลงทุน ธุรกิจจำนวนมากปิดกิจการและเลิกจ้างแรงงาน  ภาวะเศรษฐกิจช่วงไตรมาส 1 ปี 2564 หดตัวใกล้เคียงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน จากการแพร่ระบาดของโควิดระลอกที่สอง ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวหดตัวมาก การใช้จ่ายปรับตัวดีขึ้นในกลุ่มสินค้าจำเป็นในไตรมาสที่สองเศรษฐกิจเชียงใหม่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิดรอบสาม และการดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดในประเทศ ส่งผลให้ภาคท่องเที่ยวและการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนหดตัวมากขึ้น ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวจากการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ด้านการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวสูงจากการเร่งเบิกจ่าย ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนชะลอลงตามสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวม

ดร.กอบกิจ อิสรชีวัฒน์เผยว่า ภาวะเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ไตรมาส 1 ปี 2564 ภาคบริการด้านการท่องเที่ยว หดตัวมากขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า จากการแพร่ระบาดระลอกสอง ประกอบกับสถานการณ์หมอกควัน ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวและอัตราการเข้าพักลดลง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติยังคงหดตัวสูง จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ เข้าสู่ไตรมาส 2 ภาคการท่องเที่ยวหดตัวมากขึ้น จากการระบาดของโควิดระลอกสาม ที่กระจายวงกว้างและรุนแรงมาก และจากมาตรการควบคุมการระบาดของจังหวัดต่าง ๆ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวในประเทศชะลอการเดินทาง โดยภาพรวมช่วงครึ่งปีแรก 2564 ภาคการท่องเที่ยวหดตัวรุนแรง สูญเสียรายได้ต่อเนื่องเกือบ 2 ปี ธุรกิจจำนวนมากต้องปิดกิจการ  แรงงานภาคท่องเที่ยวไม่มีรายได้

ส่วนภาคอุปโภคบริโภคภาคเอกชนไตรมาสแรกของปี หดตัวน้อยลงจากไตรมาสก่อน จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ส่งผลให้การใช้จ่ายสินค้าในชีวิตประจำวันปรับดีขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าจำเป็น ในขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนกำลังซื้อที่เปราะบาง เมื่อเข้าสู่ไตรมาส 2 การอุปโภคบริโภคหดตัวเพิ่มขึ้น จากการระบาดของ COVID-19 ระลอกสาม  ทำให้การใช้จ่ายในหมวดสินค้าใน ชีวิตประจำวันและหมวดบริการหดตัว ด้านการใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนชะลอกำลังซื้อโดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และรถบรรทุกเชิงพาณิชย์ ขณะที่กลุ่มรถจักรยานยนต์ยังขยายตัวได้ตามความต้องการซื้อของลูกค้ากลุ่มเกษตร โดยภาพรวมครึ่งปี 2564 การใช้จ่ายกระเตื้องเล็กน้อยในช่วงต้นปี และชะลอลงเมื่อพบการระบาดระลอกที่สาม

ภาคการลงทุนภาคเอกชน ชะลอลงต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาทั้งสองไตรมาส การลงทุนเพื่อการก่อสร้างชะลอตัว ตามภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ชะลอลงตามกำลังซื้อที่อ่อนแอ ทำให้ผู้ประกอบการเลื่อนแผนการลงทุนออกไป การลงทุนเพื่อการผลิตขยายตัวเล็กน้อย จากการลงทุนในกลุ่มธุรกิจขนส่ง ทั้งสินค้า E-Commerce และสินค้าเกษตร โดยยังมีความต้องการซื้อรถยนต์เชิงพาณิชย์ สะท้อนจากยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัว รวมทั้งมีการลงทุนนำเข้าเครื่องจักรเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและรองรับคำสั่งซื้อในอนาคต เฉพาะธุรกิจรายใหญ่บางรายเท่านั้น โดยภาพรวมช่วงครึ่งปีแรกของปีการลงทุนภาคเอกชนชะลอลงมาก

ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เผยว่าสำหรับแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจไตรมาสที่ 3-4 ปี 2564 จากธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ทรุด หนักช่วง เม.ย.-มิ.ย.2563 จากนั้นเริ่ม ฟื้นตัวได้ดีช่วงเดือน พ.ย. 2563 แต่ เผชิญโควิดระลอกสองและสาม ทำให้ ธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ ช่วง ครึ่งแรกปีนี้ทรุดหนักกว่าครึ่งแรกปี ก่อน และหดตัวหนักว่าธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดชลบุรีและกรุงเทพ  แต่ยังดีกว่าจังหวัดภูเก็ต ดังนั้นควรจัดทำ Sandbox ลักษณะเดียวกับจังหวัดภูเก็ต เพื่อเร่งฟื้นฟู ความเสียหาย

สำหรับแผนการสนับสนุนและฟื้นฟูธุรกิจต้อง ช่วยเหลือแก้ไขหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้พักชำระหนี้ แก่ครัวเรือนและ นักธุรกิจ โควิดเป็นเหตุสุดวิสัย, เติมสภาพคล่องแก่ SMEs มีมาตรการค้าประกันสินเชื่อ และใช้ บทบาทสถาบันการเงินเฉพาะกิจเป็นแกนนำ ควบคู่สถาบันการเงินหลัก , ส่งเสริมการเพิ่มทักษะหรือปรับทักษะ (upskill – reskill) ของ แรงงาน, Digital finance ให้ธุรกิจหรือครัวเรือนเข้าถึงระบบสินเชื่อมากขึ้น.