ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เปิดเผยความสำเร็จในการจัดตั้งโรงพยาบาลนามของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่สามารถดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของจังหวัดเชียงใหม่ ได้เป็นอย่างดี ผ่านวิกฤตมาได้ เพราะมีศรัทธาร่วมกัน
วันนี้ (25 พ.ค. 64) นายแพทย์นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เปิดเผยในการแถลงข่าวสื่อมวลชนประจำสัปดาห์ ผ่านระบบ ZOOM ถึงแถลงความสำเร็จในการตอบสนองสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 โดยการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในส่วนของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายนของจังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 10 เมษายน – 10 พฤษภาคม 2564 ซึ่งมีการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในส่วนของนักศึกษาและบุคลากรมหาวิยาลัยเชียงใหม่จำนวนกว่า 200 ราย ระหว่างวันที่ 5-9 เมษายน 2564 ดังนั้น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือ EOC ขึ้น พร้อมจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเชียงใหม่ 2 ขึ้นที่หอพักนักศึกษาหญิง 5 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือ SDD5 เพื่อดูแลผู้ป่วยที่เป็นนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวันที่ 10 เมษายน 2564 เพื่อแบ่งเบาภาระโรงพยาบาลสนามจังหวัดเชียงใหม่ที่มีผู้ป่วยเข้าใช้บริการหลักพันคน
นายแพทย์นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ กล่าวต่อว่า ในการตั้งโรงพยาบาลเชียงใหม่ 2 นั้น ได้มีการทบทวนความรู้แก่เจ้าหน้าที่กำลังเสริมเกี่ยวกับวิธีการสวมชุด PPE และกระบวนการทำงานต่าง ๆ เนื่องจากไม่ได้ทำหน้าที่เผชิญโควิด-19 โดยตรง นอกจากนี้ยังได้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ทั้งระบบมาใช้ที่ SDD5 ผู้ติดเชื้อที่เข้ารับการรักษาจึงเสมือนเป็นผู้ป่วยของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ พร้อมกันนั้นการใช้หอพักเป็นโรงพยาบาลสนามนั้นมีประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะสามารถให้การดูแลผู้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น โดยผู้ติดเชื้อที่เข้ารับการรักษา จะได้รับการปฐมนิเทศเพื่อรับทราบวิธีการปฏิบัติตน พร้อมสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อเข้าร่วมระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ของโรงพยาบาล ซึ่งเป็นช่องทางการสื่อสารระหว่างหมอ พยาบาล และผู้ติดเชื้อ ทั้งนี้ จะเข้าสัมผัสผู้ติดเชื้อเมื่อต้องตรวจในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด นอกจากนี้ยังมีการสังเกตการณ์ผู้ติดเชื้อผ่านระบบกล้องวงจรปิด ซึ่งได้ติดไว้บริเวณทางเดินหน้าห้องพักเพื่อดูการเคลื่อนไหวผู้เข้า-ออก ห้องพัก
สำหรับผู้ที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสนามเชียงใหม่ 2 หอพักนักศึกษาหญิง 5 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือ SDD5 จะอยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย CMU EOC จะเป็นผู้คัดกรองผู้ป่วย จากนั้นส่งต่อให้ทีมแพทย์และพยาบาลรับไว้รักษาที่ SDD5 ซึ่งได้มีการเสริมกำลังของทีมแพทย์ พยาบาลเฉพาะทาง ทั้งด้านโรคเลือด การผ่าตัด โรคกระดูก โรคหัวใจ และได้มีการสนับสนุนบุคลากรจำนวนมากจากหลายส่วนงาน ทั้งส่วนงานดูแลโภชนาการ ส่วนงานดูแลชุดเครื่องนอน เสื้อผ้า เพื่อร่วมกันดูแลผู้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลสนามอย่างเต็มกำลัง ภายใต้อุดมการณ์ “เราผ่านวิกฤตมา เพราะมีศรัทธา ร่วมกัน”