เศรษฐกิจ » หอการค้าฯ ชม. สรุปผลกระทบศก. ปี 2563 ทรุดทั้งระบบ ประเมินปี 2564 เตรียมรับประเด็นการว่างงาน – หนี้เสียพุ่ง

หอการค้าฯ ชม. สรุปผลกระทบศก. ปี 2563 ทรุดทั้งระบบ ประเมินปี 2564 เตรียมรับประเด็นการว่างงาน – หนี้เสียพุ่ง

16 กุมภาพันธ์ 2021
617   0

Spread the love

หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่สรุปผลกระทบทางเศรษฐกิจในปี  2563 ทรุดทั้งระบบเครื่องจักรท่องเที่ยวเดินไม่เต็มสูบ นักท่องเที่ยวลด 47% ต่างประเทศวูบ 82% รายได้ลดลงถึง 55% คงเหลือ 42,896 ล้านบาท คาดในไตรมาส 3 ของปีนี้น่าจะฟื้นตัวกลับมาได้ โดยปัจจัยหลักคือการเร่งฉีดวัคซีนต้านโรคโควิด-19 ให้ครอบคลุมและได้ผลดี พร้อมผลักดันจับคู่เมืองท่องเที่ยว และใช้มาตรการวีซ่าท่องเที่ยวพิเศษควบคู่วีซ่าสุขภาพ ก็จะสร้างความมั่นใจการเดินทางท่องเที่ยวขยับขึ้น  ประเมินเศรษฐกิจปี 2564 เตรียมรับประเด็นอัตราการว่างงานและปัญหาหนี้เสียพุ่ง

นายวโรดม  ปิฎกานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ในช่วง  ไตรมาสที่ 4 ปี 2563 และแนวโน้มปี 2564 ว่า  ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2563 เศรษฐกิจเชียงใหม่หดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนจากวิกฤต COVID-19 แต่ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ 3 จากมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ  ทำให้การบริโภคภาคเอกชนและท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว  การจองห้องพักโรงแรมช่วงปีใหม่เพิ่มขึ้น  แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักช่วงเดือนธันวาคม จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่  กระทบความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยว ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหดตัวมาก  การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัว ส่วนหนึ่งจาก COVID-19  อย่างไรก็ตามรายได้เกษตรกรเพิ่มจากปีก่อน ส่วนการลงทุนภาคเอกชนทรงตัวในเกณฑ์ต่ำ ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ยังคงเปราะบางโดยเฉพาะการจ้างงานในธุรกิจท่องเที่ยว  อัตราการว่างงานปี 2563 เพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 2.1 เทียบกับร้อยละ 0.9 ปี 2562 รวมถึงปัญหาสภาพคล่องและหนี้สินที่พุ่งสูงขึ้น

ทั้งนี้ หากประเมินภาพรวมทั้งปีของปี 2563 พบว่า สาขาบริการด้านการท่องเที่ยวหดตัวรุนแรง ผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานเชียงใหม่ ไตรมาสที่ 2 หดตัวถึงร้อยละ 93.6 เหลือ 0.16 ล้านคน เทียบกับ 2.52 ล้าน-คน ปีก่อน และไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าจังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2  ส่งผลต่อการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน การส่งออกและการจ้างงานหดตัวรุนแรง ทั้งนี้ไตรมาสที่ 3 และสองเดือนแรกของไตรมาสที่ 4 ปี 2563 ปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนและท่องเที่ยว หลังรัฐบาลผ่อนคลายการควบคุม ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาส 4 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่หลังจากพบ ผู้ติดเชื้อที่มาจากเมียนมาต่อเนื่องถึงต้นปี และการระบาดรอบที่สองเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวยังไม่คลี่คลายขึ้น

โดยสรุปตลอดทั้งปี 2563  มีนักท่องเที่ยวลดลง 47% คงเหลือนักท่องเที่ยวชาวไทย 4.4 ล้านคน นักท่องเที่ยวต่างประเทศ 561,005 คน ลดลง 82% ทำให้รายได้ลดลงถึง 55% คงเหลือ 42,896 ล้านบาท อัตราการเข้าพักโรงแรมตลอดทั้งปีเฉลี่ย 40% ลดลงร้อยละ 33  ผู้โดยสารทางเครื่องบินในช่วงเดือนธันวาคมที่เริ่มลดลงจากวันละ 74 เที่ยวบิน มีผู้โดยสารประมาณ 15,000 คน คงเหลือในปัจจุบันถึงเดียวกุมภาพันธ์ เพียง 14 เที่ยวบิน ผู้โดยสาร ประมาณ 4,000 คน   ซึ่งคาดว่าในไตรมาส  3 ของปีนี้น่าจะฟื้นตัวกลับมาได้ โดยปัจจัยหลักคือการเร่งฉีดวัคซีนต้านโรคโควิด-19 ให้ครอบคลุมและได้ผลดี ก็จะสร้างความมั่นใจการเดินทางท่องเที่ยวขยับขึ้น

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2564 มีปัจจัยที่มีผลต่อเศรษฐกิจเชียงใหม่ได้แก่มาตรการและการควบคุมโรคระบาด COVID-19 ที่ต่อเนื่อง ทั้งนี้จากการติดตามและประเมินสถานการณ์แล้วคาดว่าการจับคู่ท่องเที่ยวระหว่างประเทศอาจเกิดขึ้นในปี 2564 นี้ โดยการใช้มาตรการวีซ่าท่องเที่ยวพิเศษ (Special Tourist Visa) พร้อมกับวีซ่าสุขภาพ ซึ่งในระยะแรกอาจเริ่มเปิดเป็นรายพื้นที่เพื่อควบคุมและคัดกรองโรคได้ง่าย  โดยมุ่งจังหวัดที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย) เป็นต้น หากทำได้ก็จะทำให้เกิดการเริ่มหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ แม้ว่าในช่วงแรกการจับคู่ท่องเที่ยวจะยังไม่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้กลับมาไทยมากเท่าที่ควร แต่น่าจะช่วยเพิ่มความพร้อมต่อการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในระยะต่อไป โดยมีปัจจัยที่สำคัญคือการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ พร้อมกับการเยียวยาและแก้ไขปัญหาที่กระทบด้านการท่องเที่ยวเรื่องสภาพคล่องและการปรับโครงสร้างหนี้.