เช้าวันนี้ (4 เม.ย. 63) นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยนายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมประชุมศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตามสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ที่เกิดจุดความร้อนมากที่สุด 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่แจ่ม 69 จุด เชียงดาว 65 จุด เวียงแหง 47 จุด แม่แตง 39 จุด และอำเภอจอมทอง 37 จุด ตามลำดับ ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (VDO Conference) พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม โดยในเช้าวันนี้จังหวัดเชียงใหม่เกิดจุด Hotspot จำนวน 438 จุด อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 204 จุด ป่าอนุรักษ์ 229 จุด เขต สปก. 5 จุด ซึ่งได้รับรายงานการแจ้งความดำเนินคดี จำนวน 89 คดี จาก 15 อำเภอ
นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้ขอให้แต่ละอำเภอตรวจสอบจุดความร้อนในเช้าวันนี้ แล้วเร่งปรับแผนเพื่อลดจุดความร้อนในพื้นที่ และรายงานผลการปฏิบัติงานความคืบหน้าทุกระยะ เน้นย้ำให้ทุกอำเภอบูรณาการกำลังทุกภาคส่วน ลงพื้นที่เข้าไปสร้างการรับรู้ ความเข้าใจให้กับประชาชนในหมู่บ้าน รวมทั้งใช้หอกระจายข่าวประชาสัมพันธ์ข่าวสารไปยังชุมชนให้ทราบอย่างทั่วถึง ควบคู่การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะพื้นที่ผ่อนผันที่ทำกินในเขตป่าไม้ หากพบว่ามีการเผาเกิดขึ้น จะต้องเพิกถอนสิทธิทันที พร้อมทั้งกำชับให้ทุกอำเภอรายงานการแจ้งความดำเนินคดีทุกพื้นที่ที่มีเหตุที่เกิดไฟ และติดตามผลการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด โดยขอให้รายงานผลการปฏิบัติงานความคืบหน้ามายังศูนย์บัญชาการฯ จังหวัด ให้ทราบผลทุกระยะ
สำหรับ สถานการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้นเมื่อวานในอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย จำนวน 6 จุด ดับไปแล้วทั้งหมด มีเกิดขึ้นใหม่ใกล้เคียงจุดเดิม 1 จุด เป็นการไหม้ตอไม้ขนาดใหญ่ กระจายเป็นจุดๆ โดยมีเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการควบคุมและเฝ้าระวังในพื้นที่แล้ว พร้อมทั้งมีรถน้ำสแตนบายเพื่อสนับสนุนหากเกิดเหตุฉุกเฉิน ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้ให้ความสำคัญกับบริเวณดอยสุเทพเป็นอย่างมาก กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องติดตามและตรวจสอบสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีกลุ่มควันเกิดขึ้น อากาศยานทั้ง ฮ.MI-17 ของกองทัพบก ฮ.ปภ. KA32 สามารถขึ้นปฏิบัติการได้ทันที พร้อมทั้งได้สั่งการให้เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวน ในการปิดล้อมบริเวณโดยรอบอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย และเส้นทางขึ้นดอยสุเทพทุกเส้นทางตลอด 24 ชั่วโมง โดยสามารถบริหารจัดการกำลังพลที่ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์บรรเทาสาธารณภัยมณฑลทหารบกที่ 33 จำนวน 80 นาย เข้าปฏิบัติการลาดตระเวนป้องกันพื้นที่เสี่ยง และฝังตัวอยู่ในพื้นที่เสี่ยงเกิดไฟป่าโดยรอบดอยสุเทพ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นช่องโหว่รอยต่อตามเขาของอำเภอแม่ริม เพื่อเพิ่มการป้องกันไม่ให้เกิดไฟในพื้นที่ซ้ำซากอีก.