คณะกรรมาธิการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ติดตามสถานการณ์ด้านปัญหาฝุ่นละอองและมลพิษทางอากาศในจังหวัดเชียงใหม่ นำไปจัดทำแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันในภาคเหนือ เน้นส่งเสริมอาชีพหลากหลาย แทนการทำเกษตรรูปแบบเดิม
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร พร้อมคณะ เดินทางมาติดตามสถานการณ์ พร้อมทั้งประชุมร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อศึกษาและรับทราบสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองและมลพิษทางอากาศในจังหวัดเชียงใหม่ ตลอดจนปัญหาไฟป่าและหมอกควันข้ามแดน รวมทั้งอุปสรรคปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เพื่อที่จะนำข้อมูลไปสู่การวิเคราะห์และจัดทำเป็นแผนแม่บทในการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันในพื้นที่ภาคเหนือให้เกิดผลสัมฤทธิ์ โดยมี นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ให้การต้อนรับ พร้อมทั้งมีส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ มีความสนใจในเรื่องของการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองและมลพิษทางอากาศของภาคเหนือ ซึ่งในวันนี้ได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาเรียนรู้กระบวนการจัดการฝุ่นควันในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่กระบวนการลดปัญหา การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมทั้งการบริหารจัดการเมื่อเกิดปัญหา โดยคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งมีหน้าที่ในการออกกฎหมาย จะนำข้อมูลมาทำการวิเคราะห์ สรุปปัญหา และวางแนวทางการดำเนินงาน จัดสร้างเป็นแผนแม่บทในการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันในพื้นที่ภาคเหนือ ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว จากนั้นจะทำเป็นขอเสนอส่งไปให้กับส่วนราชการต่างๆ ของทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ มองว่าปัญหาเรื่องปากท้องหรือความอยู่ดีกินดีของพี่น้องเกษตรกร ถือเป็นตัวแปรสำคัญในการแก้ไขปัญหา เพราะหากพี่น้องเกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ก็จะไม่เลือกทำการเกษตรในรูปแบบเดิมๆ ที่ต้องใช้วิธีการเผา จากการลงพื้นที่เห็นได้ว่า จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ดังนั้นควรนำความหลากหลายเหล่านี้มาสร้างเป็นนวัตกรรมการเกษตรในรูปแบบอื่นที่ทันสมัย และมีรายได้มากกว่าการปลูกข้าวโพดในปัจจุบัน ที่จะต้องมีการเผาหลังการเก็บเกี่ยว โดยอาจศึกษาเรียนรู้อาชีพจากโครงการหลวงต่างๆ เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิต หากเราทำให้พี่น้องประชาชนมีรายได้จากอาชีพประเภทอื่นแทนได้ ก็จะช่วยลดพื้นที่การปลูกข้าวโพดลง การเผาวัสดุทางการเกษตรก็จะลดลงตามไปด้วย สุดท้ายก็จะทำให้ปัญหาหมอกควันลดลง
ที่ประชุมยังได้มีการนำผลงานเครื่องฟอกอากาศ ซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์ของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่จะนำมาช่วยในการสร้างคุณภาพอากาศที่ดีให้กับประชาชน ซึ่งทำจากวัสดุใกล้ตัวและใช้ต้นทุนต่ำ งบประมาณไม่เกิน 2,000 บาท ซึ่งผลจากการทดลองจริง สามารถช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองภายในห้องพักได้สูงสุดจนเหลือเพียง 6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากค่ามาตรฐานที่ไม่ควรเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งนับว่าเป็นผลงานที่มีประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง