สกู๊ปพิเศษ » ด้วยความรักและผูกพันกับช้างมาตั้งแต่ชีวิตเยาว์วัยของ”อัญชลี กัลมาพิจิตร”

ด้วยความรักและผูกพันกับช้างมาตั้งแต่ชีวิตเยาว์วัยของ”อัญชลี กัลมาพิจิตร”

14 ตุลาคม 2019
1665   0

Spread the love

จากข้อมูลของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย พบว่าช้างในประเทศไทยปัจจุบันจำนวนประชากรช้างเลี้ยงในประเทศไทยมีประมาณ 2,700 เชือก ส่วน จำนวนช้างป่าในประเทศไทยนั้นเป็นเรื่องที่ยากที่จะนับจำนวนประชากรช้างป่า ซึ่งมีถิ่นที่อยู่อาศัยในป่า แต่ประมาณว่ามีจำนวนอยู่ที่ื 2000-3000 ตัวหลังจากจำนวนประชากรช้างไทยทั้งช้างเลี้ยงและช้างป่า มีอยู่จำนวน 1 แสนเชือกในปี พ.ศ.2393 แต่ปัจจุบันนี้เต็มที่แล้วไม่ถึงหมื่นตัวแน่ และสถานภาพช้างเลี้ยงตามปางช้างต่างๆทั่วประเทศ เริ่มจะนำแนวการเลี้ยงช้างอย่างอนุรักษ์ หลายปางทิ้งโซ่ทิ้งตะขอ และประสบความสำเร็จเนื่องจากชาวฝรั่งตะวันตกและยุโรปต้องการเห็นช้างถูกเลี้ยงอย่างอนุรักษ์และเป็นธรรมชาติ จนมีการตั้งองค์กรตรวจสอบการเลี้ยงช้างขึ้นในประเทศแถบยุโรป ที่ได้รวมพลังกันในกลุ่มทัวร์ยักษ์ใหหญ่ ให้มีการเข้ามาสำรวจสถานที่เลี้ยงช้างต่างๆในหลายประเทศของเอเชียและประเทศไทยเป็นเป็นเป้าหมายใหญ่เพราะมีปางช้างต่างๆเลี้ยงช้างเพื่อการท่องเที่ยว มีการแสดงช้างบังคับช้างให้ทำสิ่งต่างๆเพื่อสนองให้กับนักท่องเที่ยวบางกลุ่มที่ต้องการดูโชว์ของช้างอยู่ ซึ่งตัวผู้เขียนเองก็ได้มีโอกาสเดินทางไปยังประเทศที่เลี้ยงช้างจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นอินเดีย และศรีลังกา กับกลุ่มนักอนุรักษช้าง ทั้งอินเดียก็ยังมีการเลี้ยงช้างอย่างแอบแฝงพิธีกรรมและเพื่อโชว์และการท่องเที่ยว แต่ก็มีการการตั้งศูนย์อนุรักษ์ช้างไร้โซ่ไร้ตะขอ ซึ่งต้นแบบนำมาจากเอลลิแฟนท์เนเจอร์ปาร์คหรือศูนย์บริบาลช้างไทย ที่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ และที่ศรีลังกา มีการจัดการปัญหาช้างป่าอย่างเป็นระบบจนคนกับช้างเกื้อกูลกันได้

สำหรับสถานการณ์ช้างเลี้ยงในประเทศไทย หลายแห่งในภาคเหนือยังคงยึดหลักการเลี้ยงช้างในเชิงธุรกิจ และยังไม่มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงจากแนวเดิมได้เลย หลายปางยังคงมีการนั่งหลังช้างลุยป่าลุยลงน้ำอ้างเป็นความต้องการของนักท่องเที่ยว ที่เชื่อกันว่าหากได้นั่งหลังช้างจะมีบารมี เสียงหัวเราะชอบใจบนหลังช้าง ผสมผสานกับน้ำตาที่ไหลพรากจากสองตาของช้างทั้งอายุมาก อายุน้อย ที่ถูกสับบังคับด้วยตะขอและโซ่ตรวนที่ลากไปอย่างสุดแสนจะทรมานใจของคนรักช้าง..จากธุรกิจที่เอื้อประโยชน์มหาศาลให้กับเจ้าของปางช้างแต่ละแห่ง จึงเป็นการยากที่จะเปลี่ยนแปลงการเลี้ยงช้างไปสู่ระบบอนุรักษ์ได้

ผู้เขียนได้มีโอกาสพบกับ คนเคยเลี้ยงช้าง อยู่กับช้างมาจนรู้นิสัยใจคอของช้างสัตว์คู่บ้านคู่เมือง และสัญญาไว้กับตัวเองว่าหากกลับไปอยู่กับช้างและบริหารปางช้างอีก จะนำพาการเลี้ยงช้างเข้าสู่โหมดการอนุรักษ์อย่างแท้จริง มาฟังแนวคิดของ นางอัญชลี กัลมาพิจิตร อดีตผู้บริหารปางช้างแม่สา ชึ่งชีวิตตั้งแต่ 9 ขวบ ก็เห็นบิดา ก็คือ นาย ชูชาติ กัลมาพิจิตร ที่หันมาประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการเลี้ยงช้างให้นักท่องเที่ยวได้ชม

“เมื่อเดือนเมษายน ปี 2519 เมื่อพ่อเริ่มเลี้ยงช้าง ดิฉันมีอายุเพียง 9 ขวบ ความผูกพันและการมองเห็นช้างของเราจึงไม่เท่ากัน ดิฉันเคยมองเห็นช้าง มองเห็นควาญ มองเห็นการเลี้ยงดูในมุมของเด็กมาก่อน ดิฉันเคยลงเล่นน้ำในแอ่งน้ำของช้างตามประสาเด็ก เหยียบย่ำอยู่บนสิ่งปฏิกูล ซึ่งเป็นวิถีดั้งเดิม มีคำอธิบายมากเป็นล้านคำ แต่พูดออกมาให้หมดไม่ได้ว่าด้วยเรื่องการเลี้ยงช้าง วันนี้ขอพูดความจริงไม่โกหก จากกระแสการต่อต้านการนำช้างมาใช้ในการท่องเที่ยว ที่ยังพอมีทางออก ย้ำว่าทุกเรื่องมีทางออกเสมอ ความจริงที่เราต้องยอมรับว่าการต่อต้านเรื่องการนำช้างมาฝึก มาขี่ มาโชว์ มาทำกิจกรรมใดๆล้วนเป็นเรื่องที่สังคมจะไม่ยอมรับทั้งสิ้นในปี พ.ศ.นี้

ดังนั้นการจะอธิบายอะไรออกไปมันก็ยากยิ่งกว่า เช่นการฝึกช้างให้ทำอะไรต่างๆ เมื่อก่อนมันคือความฉลาดของทั้งคนและช้าง หรือการใช้ตะขอคือความจำเป็นของควาญที่มีหน้าที่ควบคุมช้างเพื่อความปลอดภัย หรืออะไรก็ตาม พูดออกไปยามนี้ ก็จะไม่มีใครฟัง และไม่เป็นผลดีต่อตัวผู้พูด นับวันมันก็จะยากขึ้น การเลี้ยงดูสัตว์และการเน้นย้ำเรื่องสวัสดิภาพ รวมถึงสวัสดิการของสัตว์คือสิ่งที่คนส่วนใหญ่ต้องการรับรู้ ต้องการมองเห็นและต้องการรับฟัง เราต้องกลับมายอมรับและพูดถึงปัญหาข้อนี้ให้ชัดเจนก่อน เราจะได้มองเห็นและแก้ไขที่ตัวเรา แทนที่จะไปโมโหและโกรธคนอื่นเขา ใครทำดีต่อช้างไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม ควรได้รับการยกย่องและชื่นชม อะไรที่ดีเราต้องนำมาปรับใช้ ไม่ต้องทำตามเขาทั้งหมด ทำตามวิธีของเรา แต่เป้าหมายการเลี้ยงดูช้างต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน มุ่งเน้นการอยู่รอดของทั้งช้างและคน ให้เป็นที่ยอมรับของผู้คนส่วนใหญ่ จะได้มีความยั่งยืน นับเป็นโจทย์ที่ท้าทาย และต้องทำให้ได้ ”


จะว่าไปแล้ว มันก็ไม่มีใครผิดและไม่มีใครถูก แต่เป็นการกระทำที่เหมาะสมในช่วงเวลาที่ต่างกัน เมื่อสมัย 40-50 ปีที่แล้ว กิจกรรมของช้างก็เรื่องหนึ่ง จนเวลาผ่านไป กระแสความนิยมหรือความเข้าใจ ความรักและหวงแหนในธรรมชาติก็เป็นอีกแบบหนึ่ง ถ้าเราเข้าใจและยอมรับในพฤติกรรมของผู้บริโภค ยอมรับในการเปลี่ยนแปลง เราจะไม่โทษใคร เป็นสิ่งที่คาดเดาได้ทั้งสิ้น สมัยก่อนคนนิยมการแสดงช้าง การนั่งช้างบนแหย่ง สมัยนี้คนไม่นิยมแล้ว คนต้องการเห็นช้างอย่างที่ช้างเป็น ซึ่งก็ถูกต้องแล้ว ตามจำนวนประชากรช้างที่ลดลง และราคาช้างที่สูงขึ้น การนำช้างมาใช้หรือการดูแลรักษาช้างก็ควรเหมาะสมกับมูลค่าของช้าง ในฐานะคนเคยบริหารจัดการปาง คิดว่ามันง่ายขึ้น ลดหรืองดกิจกรรมที่คนไม่นิยม ทำในสิ่งที่คนนิยม ช้างไม่ช้ำ คนไม่เหนื่อย มีเงินพอมาเป็นค่าใช้จ่าย อาจจะได้ใจคนมาชมมากกว่า จนเขามาช่วยเลี้ยงก็ได้ ต้องลองวิเคราะห์ดู”

หลายปีมาแล้ว ตอนท่องยุทธจักรช้าง มีความเข้มข้นมาก เรื่อง Camp management อยากทำให้ดี ทุกวันนี้ก็ยังอยากทำให้ดีอยู่ โลกเปลี่ยนไปแล้ว ถ้ายังจะดื้อทำเหมือนเดิม คงอยู่ไม่ได้อาหารเสริมช้างชรา Anti aging อาหารเสริมโปรไบโอติกเพื่อปรับคุณภาพการย่อยของกระเพาะอาหาร เพราะช้างชราจะเคี้ยวอาหารยากลำบากกว่าช้างในวัยอื่นๆวันนี้ได้เห็นว่าช้างกินอร่อยมาก เรื่องราวดีๆแบบนี้ที่อยากทำ แต่ไม่รู้จะมีแรงทำหรือเปล่า ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจากนายสัตวแพทย์รณชิต รุ่งศรีที่เคยร่วมทำงานกันมา

 

“การเลี้ยงช้างยุคใหม่ที่เข้ากับสมัยปัจจุบัน”จริงอยู่ว่าประเทศไทยเคยมีอยู่ช้างจำนวนนับแสนเชือกในอดีตและเราได้นำช้างออกจากป่ามาใช้งานที่เป็นประโยชน์กับมนุษย์ โดยการฝึกช้าง(Training)ให้เชื่อฟังและทำตามคำสั่งหรือความต้องการ โดยประโยชน์ที่ได้รับมีตั้งแต่การทำศึกสงครามป้องกันเอกราชของชาติ มาจนถึงการใช้ช้างเป็นสัตว์พาหนะ รวมถึงการใช้ช้างเป็นสัตว์แลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ และเมื่อมีการปิดสัมปทานป่าไม้ ก็ทำให้ช้างส่วนใหญ่ตกงานและจำเป็นต้องเดินเข้าสู่ภาคส่วนของการท่องเที่ยว ช้างถูกนำมาใช้ขี่และจัดแสดงให้นักท่องเที่ยวได้ชมด้วยความสนุกสนาน นำเม็ดเงินเข้าประเทศมหาศาล ถ้านับจากปีที่ประเทศไทยปิดสัมปทานป่าในปี พ.ศ.2532 เป็นต้นมา ช้างที่เลิกชักลากไม้และเดินทางเข้าสู่ปางช้างต่างๆ เพื่อบริการนักท่องเที่ยวนับเป็นเวลายาวนานเกือบสามสิบปีแล้ว เมื่อเรามองดูพัฒนาการของกิจกรรมช้างเลี้ยงในปางช้างหรือในแคมป์ช้างทั่วประเทศ

 

ซึ่งเริ่มต้นจากการแสดงชักลากไม้ตามความถนัดในอุตสาหกรรมป่าไม้ มาจนถึงการแสดงเพื่อความบันเทิง และการใส่แหย่ง เพื่อให้นักท่องเที่ยวนั่งชมธรรมชาติ มาจนถึงการขี่คอช้างเพื่อฝึกหัดเป็นควาญช้าง จนกระทั่ง หลายปีให้หลังเทรนด์หรือความนิยมของนักท่องเที่ยวในกิจกรรมต่างๆเหล่านั้นเริ่มเปลี่ยนไป กระแสอนุรักษ์นิยม ความต้องการเห็นช้างอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ(Natural)ได้เข้ามาแทนที่ จึงทำให้เกิดกระแสการต่อต้านการแยกช้าง การฝึกช้าง การนั่งช้าง การขี่ช้างและการแสดงของช้าง ข่าวสารด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (Conservation)ได้แพร่หลายไปทั่วโลก ความรักและหวงแหนสัตว์ที่นับวันจะมีจำนวนน้อยลดน้อยลงอย่างช้าง ทำให้นักท่องเที่ยวเริ่มไม่ชื่นชอบในกิจกรรมที่มีมาแต่ดั้งเดิมอีกต่อไป

นักท่องเที่ยวเริ่มเข้าใจถึงกระบวนการต่างๆของการนำช้างออกจากป่า(Wild)มาเป็นช้างบ้าน(Domestic) และการถูกฝึกเพื่อให้ช้างเชื่อฟังมนุษย์ในเรื่องต่างๆ อีกทั้งยังไม่มีการยืนยันที่ดีพอถึงมาตรฐานการฝึกช้างดังกล่าว กระแสความนิยมที่จะเห็นช้างถูกเลี้ยงและดูแลอย่างเป็นธรรมชาติที่สุดจึงเข้ามาแทนที่ ปางช้างหลายแห่งเริ่มปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงช้าง และกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวจะสามารถทำได้ และแน่นอนว่าจะต้องไม่เป็นการทารุณหรือทำร้ายช้างอย่างเด็ดขาด ตรงกันข้าม กิจกรรมของนักท่องเที่ยวกลับกลายมาเป็นการช่วยเหลือช้าง ดูแลรับใช้ช้างเหล่านั้นแทน เช่นกิจกรรมการเป็นอาสาสมัคร (Volunteer) ก็เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ไม่มีการอนุญาตให้ขี่ช้าง หรือมีช้างแสดงให้ดู แต่เป็นการมาดูแล อาบน้ำช้าง ให้อาหารช้าง ทำความสะอาดบริเวณที่เลี้ยงช้าง ตลอดจนการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมด้วยการบริจาคสิ่งของหรือสิ่งที่ช้างต้องการในชีวิตประจำวันแทน ประเทศไทยเราเริ่มจะใช้เทรนด์การท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบ Responsible Tourism ตามกระแสโลก ซึ่งนั่นก็หมายความว่า นักท่องเที่ยวต้องเที่ยวอย่างมีจิตสำนึก รู้รับผิดชอบ รวมถึงการเลี้ยงดูช้างของเจ้าของช้าง ก็เป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง เพราะนั่นหมายถึงการต่อลมหายใจของช้างเลี้ยงให้ยืนยาวออกไปให้นานที่สุด

การอนุรักษ์ช้างดูแลช้าง ก็เป็นเพียงแนวคิดของคนที่ผูกพันกับช้าง เรื่องนี้ก็คงจะค่อยเป็นค่อยไปตามจิตสำนึกของแต่ละคน “ช้างเลี้ยงคน คนเลี้ยงช้าง”จะหักทีเดียวก็คงไม่ได้ แต่ก็ขอให้ค่อยเป็นค่อยไป ชีวิตช้างไทยไม่ว่าช้างป่าช้างเลี้ยงก็คงดีขึ้น อยู่คู่บ้านคู่เมืองต่อไป ขออย่าให้มีแต่เพลง”ช้างช้างช้าง น้องเคยเห็นช้างหรือเปล่า ช้างมันตัวโตไม่เบา มีเขี้ยวใต้งวงเรียกว่างา มีหูมีตาหางยาว” บัดนั้นช้างสูญพันธุ์ไปแล้ว