เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 ที่บริเวณสวนสาธารณะบนที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศรี นายกอบจ.เชียงใหม่,พร้อมด้วยนายสมชาติ วุฒิกล้า รองนายกอบจ.เชียงใหม่ และสมาชิก อบจ.เชียงใหม่ นายธัชพล นิรัติมัย ปลัดอบจ.เชียงใหม่และหัวหน้าส่วนราชการ ได้นำตัวแทนชาวบ้านชุมชนแขวงกาวิละ เดินสำรวจพื้นที่บริเวณที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยบนเนื้อที่กว่า 62 ไร่
หลังจากพาตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียง และสื่อมวลชนเดินดูโดยรอบแล้ว นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกอบจ.เชียงใหม่ ได้พูดคุยหารือกับชาวบ้านที่เดินทางมาในครั้งนี้ว่า อบจ.เชียงใหม่เข้ามาปรับปรุงพื้นที่บริเวณที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยแห่งนี้นั้น สาเหตุจากได้รับการร้องขอจากนายเกรียงไกร ศิวิลัยซ์ สารวัตรแขวงบำรุงทางลำพูน การรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ทำหนังสือขอความอนุเคราะห์จากอบจ.เชียงใหม่ ให้มีการจัดส่งเครื่องจักร และเจ้าหน้าที่ดำเนินการทำความสะอาด บริเวณโดยรอบสถานีรถไฟเชียงใหม่ และบริเวณโดยรอบสถานี และพื้นที่ในสถานีรถไฟเชียงใหม่บางส่วนจัดพื้นที่เป็นแปลงสวนสุขภาพ ซึ่งการรถไฟฯเคยให้เทศบาลนครเชียงใหม่เป็นผู้ดูแลและต่อมาถูกทิ้งร้างไว้ ประกอบกับอยู่ติดกับพื้นที่ทรงงานของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หลังจากการตรวจพื้นที่บริเวณโดยรอบพบว่า พื้นที่นี้ถูกทิ้งให้รกร้าง มีเศษขยะจำนวนมากทั้งนี้ อาจจะทำให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค และเป็นแหล่งมั่วสุมของคนไร้บ้าน เป็นต้น
ทั้งนี้ ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูแล้งอาจทำให้เป็นแหล่งเชื้อเพลิงเกิดไฟไหม้ได้ เพื่อเป็นการป้องกัน และแก้ไขปัญหาดังกล่าวรวมถึงเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงามน่าใช้บริการ แขวงบำรุงทางลำพูน การรถไฟแห่งประเทศไทย จึงขอให้อบจ.เชียงใหม่ช่วยในการปรับปรุงดำเนินการตั้งแต่ วันที่ 17 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นมา
นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศรี นายกอบจ.เชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การเข้ามาดูแลพื้นที่ตรงนี้ ได้รับการขอร้องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายอื่นใด และพร้อมทำพื้นที่ตรงนี้ ให้เหมือนกับด้านหลังศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ ที่ อบจ. ได้มีการเซ็น MOU กับจังหวัดเชียงใหม่ ได้เข้าไปพัฒนาพื้นที่ เป็นสวนสาธารณะ สถานที่ออกกำลังกายดังที่เห็นกันในปัจจุบันนี้
“หากประชาชนอยากได้สวนสาธารณะใจกลางเมืองเชียงใหม่ ก็ต้องร้องขอไปที่การรถไฟฯ เพราะเบื้องต้นอบจ.เชียงใหม่เข้ามาพัฒนาตามคำร้องขอ ส่วนจะก้าวไปถึงการทำสวนสาธารณะหรือสถานที่ออกกำลังกายด้วยหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับพี่น้องประชาชนชาวเชียงใหม่ที่จะร้องขอจากการรถไฟฯซึ่งอาจจะเป็นเทศบาลหรืออบจ.เชียงใหม่ก็ได้แต่ประชาชนอยากให้ใครเข้ามาพัฒนา ตอนนี้อบจ.เข้ามาเคลียร์พื้นที่ที่เดิมมันรกร้าง และเป็นแหล่งมั่วสุมให้มันดูสะอาดและปลอดภัยขึ้นเท่านั้น”นายพิชัย กล่าว
อบจ.เชียงใหม่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่มีงบประมาณเกือบ 2 พันล้านบาทก็จริง แต่ก็ต้องดูแลและให้บริการแก่พี่น้องประชาชนทั้ง 25 อำเภอ โดยเฉพาะความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่ ไม่ได้ทำเฉพาะช่วงใกล้จะครบวาระหรือใกล้จะหมดวาระ ไม่ได้มีความมุ่งหมายทางการเมือง แต่เพียงเท่านั้น
อาทิเช่นที่ผ่านมาในส่วนของพื้นที่แม่สาน้อย ที่สันป่าตอง มีการขอร้องมาที่ อบจ. จึงทำให้เกิดการพัฒนาที่ดิน เช่นกันกับสวนสาธารณะบนที่ดินของการรถไฟฯ เดิมที่เทศบาลนครเชียงใหม่เคยดูแล และถูกปล่อยรกร้าง หลังจากเข้ามาพัฒนาทำให้พื้นที่สะอาดมองเห็นแล้วเกิดความสวยงาม และปลอดภัยมากขึ้น ทั้งนี้ ได้ใช้เครื่องจักรกำลังคน บุคลากรเจ้าหน้าที่ของ อบจ.ในการดำเนินการทั้งหมดในการพัฒนาครั้งนี้ และพร้อมที่จะพัฒนาพื้นที่นี้ต่อไปในอนาคตอีกด้วย