วันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ : สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (สสปน.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สมาคมการค้าวิศิษฏ์ล้านนาเพื่ออุตสาหกรรมไมซ์และการท่องเที่ยว (Visit Lanna) นี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.), NIANTIC, INC. จับมือกับ จังหวัดเชียงใหม่ และส่วนราชการ ทำโครงการการพัฒนาต่อยอดการจัดงานเทศกาลประจำเมืองสู่ยุทธศาสตร์การส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ใน “เทศกาลประจำเมือง”
โดยในการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ ณ ศาลากลาง จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ได้รับเกียรติจาก นายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธารการแถลงข่าว ทั้งนี้ทางคณะผู้จัดได้มีผู้บริหารเข้าร่วมแถลง อาทิ
1. ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย จาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง/ประเด็น แผนการยกระดับเทศกาลยี่เป็งเชียงใหม่ สู่กลไกการพัฒนาการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Lanna soft power)
2. นายธานินทร์ ติรณสวัสดิ์ จาก Niantiac, Inc. Pokemon Go Country Manager: Thailand
เรื่อง/ประเด็น การมองเห็นศักยภาพในจังหวัดเชียงใหม่ สู่การมีส่วนร่วมของ Pokemon Go
3. คุณสุวัชชัย นิมมานเทวินทร์ ผอ.สสปน. ภาคเหนือ สำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (สสปน.) เรื่อง/ประเด็น การประชาสัมพันธ์ และเชิญชวนร่วมสัมผัสเทศกาลยี่เป็งที่ไม่เหมือนเดิม
4. นางละเอียด บุ้งศรีทอง นายกสมาคมการค้าวิศิษฏ์ล้านนาเพื่ออุตสาหกรรมไมซ์และการท่องเที่ยว (Visit Lanna) เรื่อง/ประเด็น การประชาสัมพันธ์ และเชิญชวนร่วมสัมผัสเทศกาลยี่เป็งที่ไม่เหมือนเดิม
5. นายพงศ์สิริ เหตระกูล จาก Aweakening Festival Director
เรื่อง/ประเด็น งาน Aweakening Chiang Mai
โดย “เทศกาลประจำเมือง” จะเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์และคุณค่าของพื้นที่ ประกอบกับจังหวัดเชียงใหม่นับเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงในการใช้งานเทศกาลประจำเมืองเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดีโดยการันตีได้จากรางวัล IFEA World Festival & Event City Award 2022 ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่มี “เทศกาลยี่เป็ง” เป็นเทศกาลที่มีคุณสมบัติตรงตามนิยามเทศกาลประจําเมือง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเสน่ห์ของวัฒนธรรมชาวล้านนาที่มีเอกลักษณ์ สืบทอดกันมาอย่างยาวนานจากรุ่นสู่รุ่น เทศกาลยี่เป็งจึงมีศักยภาพในการพัฒนาต่อยอด เพื่อบรรลุเป้าหมายในการสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนอย่างยั่งยืน และนําเทศกาลยี่เป็งไปสู่การเป็นเทศกาลระดับนานาชาติ อีกทั้งยังเป็นการต่อยอดโดยใช้องค์ประกอบของวัฒนธรรมล้านนามาสร้างสรรค์กิจกรรมในครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นการสื่อถึงการเปิดฤดูกาลการท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการ ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก มาเยือนจังหวัดเชียงใหม่เพิ่มมากขึ้น และเป็นการช่วยเผยแพร่ Lanna Soft power ไปสู่สากล ผ่านการเชื่อมโยงกิจกรรมต่างๆ ภายในเทศกาลด้วยเส้นทางการท่องเที่ยวพิเศษ ที่จะส่งเสริมภาพลักษณ์อันดีให้กับพื้นที่ชุมชน พร้อมช่วยส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมในเทศกาลผ่านการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยมีรายละเอียดกิจกรรมเพื่อการต่อยอดเทศกาลยี่เป็งดังต่อไปนี้
• Pokémon GO Yi-Peng นำเสนอ virtual tourism experience ร่วมกับแบรนด์ระดับโลกผ่านเกม Pokémon GO โดยจัดทำเส้นทางพิเศษ Route ของเกม Pokémon GO ในเมืองเชียงใหม่เฉพาะช่วงเทศกาลยี่เป็งเพื่อนำพากลุ่มนักท่องเที่ยวไปสู่สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ร้านอาหารท้องถิ่น และชุมชน
• Yi-Peng Night Tour จัดกิจกรรมเดินชมเทศกาลยี่เป็งเมืองเชียงใหม่ยามค่ำคืน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมล้านนาในช่วงวันที่ 25-27 พฤศจิกายน 2566
• Yi-Peng Product คัดเลือก พัฒนา และนำเสนอสินค้าและบริการพิเศษสำหรับเทศกาลยี่เป็งเชียงใหม่ โดยร่วมมือกับผู้ประกอบการและร้านค้านำเสนอสินค้าและบริการที่สะท้อนวัฒนธรรมล้านนาและเทศกาลยี่เป็ง เช่น เมนูอาหาร งานหัตถกรรม ผลิตภัณฑ์สปา เป็นต้น
• Yi-Peng Communication จัดทำอัตลักษณ์เทศกาลยี่เป็งและร่วมพัฒนาช่องทางการประชาสัมพันธ์กิจกรรม สินค้า และบริการสำหรับเทศกาลยี่เป็งเชียงใหม่ โดยประชาสัมพันธ์ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์และการพัฒนา Website www.visitlannaassociation.com เพื่อเป็นช่องทางการประชาสัมพันธ์เทศกาลยี่เป็งและเทศกาลอื่น ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในการสื่อสารประชาสัมพันธ์ข้อมูลของเทศกาลยี่เป็งไปสู่กลุ่มเป้าหมาย