เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2562 ที่หอศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี จัดเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ (Chiang Mai Design Week) 2019 ภายใต้แนวคิด Better City, Better Living ระหว่างวันที่ 1 – 15 ธันวาคม 2562 ณ จังหวัดเชียงใหม่ บริเวณพื้นที่หลักย่านอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ อาทิ หอศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่ พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา สำนักงานยาสูบ และTCDC เชียงใหม่
เพื่อสนับสนุน และนำเสนองานออกแบบที่มีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต สร้างเครือข่ายความร่วมมือ เชื่อมโยงศักยภาพธุรกิจในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดียิ่งขึ้น พร้อมส่งเสริมผู้ประกอบการ นักออกแบบ ศิลปิน และช่างฝีมือให้สามารถเติบโตอย่างมีคุณภาพ ตลอดจนการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน
ด้วยความร่วมมือจากจังหวัดเชียงใหม่ หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน องค์กรระหว่างประเทศ และกลุ่มธุรกิจออกแบบทั้งในจังหวัดเชียงใหม่และในประเทศมากกว่า 500 ราย และจากต่างประเทศอีกกว่า 10 ประเทศ ร่วมกันจัดกิจกรรมกว่า 200 กิจกรรม อาทิ งานจัดแสดง นิทรรศการ การสัมมนาและเสวนาความรู้ด้านการออกแบบ การจับคู่ธุรกิจ ตลาดจำหน่ายสินค้า ดนตรี และกิจกรรมที่สร้างบรรยากาศและสีสันของเมือง ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างสรรค์ให้เทศกาลฯ เป็นจุดหมายสำคัญของการรวมพลังธุรกิจสร้างสรรค์ ส่งเสริมการท่องเที่ยว และเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยให้ยั่งยืน และเติบโตได้ในระดับสากล
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ประธานในพิธีเปิดเทศกาล กล่าวว่า “ความคิดสร้างสรรค์เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของนวัตกรรม เทคโนโลยี สินค้าและบริการมากมาย ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุน เพื่อพัฒนาความคิด และยกระดับสู่สินค้าและบริการที่มีคุณภาพ นักสร้างสรรค์ทั้งหลายคือนักคิดที่จะสร้างความพิเศษ และมูลค่าเพิ่มในสินค้าและบริการ อันจะเป็นการส่งเสริม และสร้างความตื่นตัว จนสามารถต่อยอดไปสู่ธุรกิจ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่ความเป็นสากล อันจะนำมาซึ่งการสร้างรายได้ในระยะยาวต่อไป ยกตัวอย่างเช่น เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ ที่จัดทุกปี เป็นปีที่ 5 ในปีนี้ และในปีแล้ว ระยะเวลาจัดงานรวม 9 วันสร้างรายได้ให้กับเมืองกว่า 960 ล้านบาท”
นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า “จังหวัดเชียงใหม่เอง ถือว่าเป็นอีกเมืองที่มีนักออกแบบ และช่างฝีมือ ที่มีชื่อเสียง และทรงคุณค่าในงานศิลปะแขนงต่างๆ รวมตัวกันมากที่สุดจังหวัดหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ ปี 2562 ที่มุ่งเน้นที่ต้องการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพกิจกรรมการท่องเที่ยวในชุมชนและท้องถิ่น เพื่อให้เชื่อมโยงสู่ระดับสากล ร่วมไปถึงกระตุ้นด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว
ภายในจังหวัดให้กลับมาคึกคักในช่วงส่งท้ายปี 2562 ด้วยการนำงานออกแบบ สร้างสรรค์ มาเป็นจุดเด่นในการท่องเที่ยว เป็นการดึงเอาศักยภาพของจังหวัดให้โดดเด่นมากขึ้น อันจะเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของท้องถิ่น และประเทศ”
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า “เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ในปีนี้ จัดภายใต้แนวคิด “Better City, Better Living” อันเป็นการส่งเสริมการใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อยกระดับวิถีชีวิต และรวมกันสร้างเมืองน่าอยู่ให้กับชาวเมือง พร้อมกันนี้เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ ยังเป็นส่วนสำคัญของเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ยูเนสโก ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ได้รับการประกาศให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ในสาขาเมืองหัตถกรรม ผู้ร่วมงานจะได้ร่วมชื่นชมกับ ทุนวัฒนธรรมที่หลากหลายของภาคเหนือ ในงานหัตถกรรมในสาขาต่างๆ ผ่านผลงานออกแบบ และการแสดงคุณค่าความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น จากคุณค่าวัสดุและทักษะฝีมือช่าง โดยมีผู้ร่วมจัดแสดงผลงานกว่า 500 ราย ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็น คุณค่าที่ไม่อาจลอกเลียนแบบ เป็นจุดแข็งของกระบวนการผลิตสินค้าไทย ซึ่งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ถือเป็นภารกิจสำคัญที่จะการพัฒนาและส่งเสริมบุคลากรสร้างสรรค์และธุรกิจไทยให้นำความคิดสร้างสรรค์ ภูมิปัญญา ต่อยอดสินค้าและบริการให้ก้าวไกลได้ยิ่งขึ้น”
งานเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ (Chiang Mai Design Week) 2019 ในครั้งนี้ แบ่งการจัดงานออกตามกลุ่มหลักๆ เช่น งานออกแบบ – พบกับผลิตภัณฑ์ด้านแฟชั่น, กราฟฟิก, งานตกแต่งภายใน และสถาปัตยกรรม, งานศิลปะ – พบกับผลงานด้านศิลปะประเพณี และศิลปะร่วมสมัย, การแสดงดนตรี และสื่อ – พบกับการแสดง, ดนตรี, อินเตอร์แอคทีฟ, ภาพถ่าย และภาพยนตร์, อาหาร – พบกับอาหารพื้นถิ่น, สโลว์ฟู้ด, ฟิวชั่นฟู้ด และเครื่องดื่ม, ส่งเสริมธุรกิจ – นำเสนอนวัตกรรมงานออกแบบ และการออกร้านของนักออกแบบผู้ประกอบการธุรกิจ นักศึกษา บุคคลทั่วไป ทั้งในเชียงใหม่ ในประเทศไทย และจากต่างประเทศ นำไปสู่การเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจ และติดต่อการค้า ควบคู่กับการขยายโอกาสให้เป็นที่รู้จัก อาทิ นิทรรศการ ตลาด และการจับคู่ธุรกิจ, เชื่อมโยงเครือข่าย – เป็นการส่งเสริมการพบปะ แบ่งปัน แลกเปลี่ยนมุมมองความรู้ และประสบการณ์ด้านการออกแบบของนักสร้างสรรค์หลากหลายสาขา และผู้เชี่ยวชาญจากอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในรูปแบบของเวทีเสวนา เวิร์กช็อป และงานสังสรรค์
Hi-Light ทางด้านงานสร้างสรรค์แขนงต่างๆทั้ง Fabienne Jouvin – การเดินทาง การบันทึกการรวบรวมความคิด สู่การสร้างสรรค์ผลงานออกแบบงานหัตถกรรมต่างวัฒนธรรม, สัมผัสสี – สีที่รู้สึกได้ ใช้งานได้ แม้มองไม่เห็นทำลายข้อจำกัด และช่วยเสริมสร้างจินตนาการ, โรงละครของผม by Prakit SEEHAWONG – จากผู้จัดซื้อที่คอยป้อนชิ้นงานให้ชาวต่างชาติ นำประสบการณ์ และไอเดียมาสร้างสรรค์ผลงานออกแบบของตัวเองที่เปลี่ยนเศษเหล็กไร้ค่าให้กลายเป็นหน้ากาก ยกระดับสู่ของตกแต่งบ้านที่ตลาดต่างชาตินิยมชมชอบ, Chiang Mai Clayative – ผลงานสร้างสรรค์จากศิลปินเซรามิกนานาชาติที่สร้างสรรค์บันดาลใจจากเมืองเชียงใหม่, กลิ่นอายรัก จาก มานพ วงค์น้อย – แรงบันดาลใจจากความทรงจำวัยเด็กที่ผูกพันกับท้องนาและควาย โดยออกแบบให้มีควายมาเป็นเอกลักษณ์ ด้วยเทคนิคการทำเครื่องเขินตกแต่งด้วยการปิดแผ่นเงินบนผิวรัก, Oh My Craft – งานสร้างสรรค์ที่ใครก็ทำได้แต่ไม่เชย, Slow Food – อาหารที่ใส่ใจทุกขึ้นตอนตั้งแต่จุดเริ่มต้นของวัตถุดิบ, Music by HIP – ปลดปล่อยความสร้างสรรค์ ผ่านเสียงเพลงด้วยแนวดนตรีหลากสไตล์ อาทิ Foxy, BACHSWING, Vels x Tontrakul, Projection Mapping by Kor.Bor.Vor – งานฉายภาพลงบนวัตถุจัดแสดง สร้างมิติ และความเคลื่อนไหวผ่านงานวิชากราฟฟิก, Into the Wind by Witaya Junma – ออกแบบโดยเลียนแบบธรรมชาติ ด้วยการเปลี่ยนลมหายใจเป็นลม โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อเปิดใช้งานกลไล ซึ่งผลลัพธ์จะแตกต่างกันทุกครั้ง.