“ทีเส็บ” เปิดตัวโครงการ “ประชุมเมืองไทย เร่งสร้างเศรษฐกิจไทย” ให้งบสนับสนุนองค์กร จัดประชุมและ การเดินทางเพื่อเป็นรางวัลภายในประเทศจำนวน 1,000 กลุ่ม หวังสร้างรายได้กว่า 100 ล้านบาท จัดโรดโชว์ ปลายทางเมืองไมซ์ซิตี้ทั่วประเทศ กระตุ้นตลาดไมซ์ในประเทศ ช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทย ณ โรงแรมเชียงใหม่ แกรนด์วิว จังหวัดเชียงใหม่
นายสุวัชชัย นิมมานเทวินทร์ ผู้อำนวยการ สำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ภาคกลาง กล่าวว่า “ทีเส็บได้ให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรมประชุมองค์กรและการเดินทางเพื่อเป็นรางวัลในประเทศ ขององค์กรต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 และในปี 2566 นี้ ทีเส็บได้เดินหน้าให้การสนับสนุนต่อภายใต้ ชื่อโครงการ “ประชุมเมืองไทยเร่งสร้างเศรษฐกิจไทย” เพื่อเร่งกระตุ้นนักเดินทางไมซ์และสร้างเศรษฐกิจ ภายในประเทศ โดยใช้กลไกการสนับสนุนเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการจัดงานไมซ์ทั่วประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งยังเป็น การกระจายรายได้ไปสู่ทุกภูมิภาคอีกด้วย พร้อมกันนี้ยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไมซ์ ชุมชน รวมถึง ธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์ได้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ ก่อเกิดเป็นเม็ดเงินหมุนเวียนใน ระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยจัดกิจกรรมโรดโชว์ประชาสัมพันธ์โครงการทั่วประเทศ
สำหรับกิจกรรมโรดโชว์ในภาคเหนือตอนบนจัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เมืองไมซ์ซิตี้ชั้นนำระดับประเทศ และได้รับยกย่องให้เป็นเมืองเทศกาลโลก World Festival and Event City ประจำปี 2022 ซึ่งเป็นการยืนยัน ความมีเสน่ห์ของเชียงใหม่ในฐานะจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยว การประชุม และงานเทศกาลในระดับ นานาชาติ เชียงใหม่มีแหล่งท่องเที่ยวที่มีความหลากหลาย ทั้งแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ และแหล่งท่องเที่ยว ชุมชน มีความโดดเด่นด้านวัฒนธรรมล้านนา ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นจำนวนมากในแต่ละปี และยัง เป็นเมืองแห่งศูนย์กลางของการประชุมระดับภูมิภาคด้วย เชียงใหม่จึงมีศักยภาพและความพร้อมในทุกด้านที่ ผู้ประกอบการสามารถเลือกให้เป็นสถานที่จัดงานไมซ์ได้อย่างดีเยี่ยม” คุณสุวัชชัยกล่าว
ภายในงานโรดโชว์ได้รับเกียรติจากผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เป็นประธานเปิดงาน และมีกิจกรรม ต่าง ๆ อาทิ การเสวนาในหัวข้อ “กระตุ้นเศรษฐกิจไทย ด้วยกิจกรรมประชุมไมซ์ในประเทศ” ทำความรู้จัก โครงการประชุมเมืองไทยฯและแพลตฟอร์ม Thai MICE Connect โดย คุณศุภาดา ชัยวงษ์ ผู้แทนการตลาด
สำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ภาคเหนือ และ คุณนราศักดิ์ ม่วงแก้ว ผู้จัดการส่วนงาน MICE Innovation นอกจากนี้ ยังมีการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “เพิ่มโอกาสการขายลูกค้ากลุ่มธุรกิจบนโลก การตลาดออนไลน์ (B2B Digital Marketing Talk)” โดย คุณชวัลวิทย์ รักษพล ผู้ก่อตั้ง M Creation Agency และมี Thai MICE Connect: Exclusive Clinic คลินิกให้คำปรึกษาการใช้งาน Thai MICE Connect แบบตัวต่อตัวอีกด้วย
โครงการ “ประชุมเมืองไทย เร่งสร้างเศรษฐกิจไทย” เป็นโครงการสนับสนุนด้านงบประมาณการ จัดงานไมซ์ให้แก่ผู้ประกอบการและนิติบุคคลตามกฎหมายที่มีแผนการจัดกิจกรรมไมซ์อย่างใดอย่างหนึ่งใน 7 ประเภท ได้แก่ กิจกรรมการประชุม (Meetings) กิจกรรมการเดินทางเพื่อเป็นรางวัล (Incentives) กิจกรรม สัมมนา (Seminars) กิจกรรมการอบรม (Training) กิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) กิจกรรมพนักงานสัมพันธ์ (Outing) และกิจกรรมศึกษาดูงาน (Field trip) โดยมีเงื่อนไขการสนับสนุน 2 รูปแบบ คือ 1.งบสนับสนุน ไม่เกิน 15,000 บาท สำหรับการจัดกิจกรรมเป็นระยะเวลา 1 วัน (ไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง) และ 2. งบสนับสนุน ไม่เกิน 30,000 บาท สำหรับการจัดกิจกรรมอย่างน้อย 2 วัน 1 คืนโดยขอรับการสนับสนุนได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 22 สิงหาคม 2566
ทั้งนี้ ผู้ขอรับการสนับสนุนต้องจัดกิจกรรมนอกสถานที่ตั้งขององค์กร สามารถจัดงานได้ทั้งในโรงแรม สถานที่จัดงานพิเศษ และชุมชนทั่วทุกภูมิภาคภายในประเทศ โดยจะต้องเลือกสถานที่จัดงานที่มีฐานข้อมูลอยู่ ในเว็บไซต์www.thaimiceconnect.com ของทีเส็บอย่างน้อย 1 แห่ง และการจัดกิจกรรมจะต้องมีจํานวน ผู้เข้าร่วมไม่น้อยกว่า30 คน
ผู้ขอรับการสนับสนุนจะต้องมีคุณสมบัติเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ได้แก่ บริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน สมาคม และมูลนิธิ หรือ ผู้ประกอบการที่ประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมไมซ์ ได้แก่ บริษัทรับจัดการธุรกิจไมซ์ หรือ Destination Management Company (DMC) บริษัทรับจัดการ ประชุม บริษัทนำเที่ยว โรงแรม หรือสถานที่จัดงาน โดยต้องเป็นสมาชิกของสมาคมโรงแรมไทย สมาคมโรงแรม ในภูมิภาคหรือจังหวัด หรือสมาคมต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รวมไปถึง โรงแรมหรือสถานที่จัดงานที่ได้รับมาตรฐานสถานที่จัดงานประเทศไทย (Thailand MICE Venue Standards : TMVS) หรือ มาตรฐานสถานที่จัดงานอาเซียน (ASEAN MICE Venue Standards : AMVS)
โครงการนี้ตั้งเป้าหมายว่าจะมีองค์กรสมัครขอรับการสนับสนุนจำนวน 1,000 กลุ่ม มีจำนวน นักเดินทางไมซ์กว่า30,000 คน สร้างรายได้หมุนเวียนทางเศรษฐกิจกว่า 100 ล้านบาท สร้างผลกระทบทาง เศรษฐกิจ 180 ล้านบาท สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ (GDP Contribution) 101 ล้านบาท รัฐมีรายได้จาก การจัดเก็บภาษี 6 ล้านบาท และก่อให้เกิดการจ้างงาน 120 อัตรา