เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2566 นายวิจิตต์ แก้วไทรเทียม ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ พร้อมด้วยผู้บริหารท่าอากาศยานเชียงใหม่ และผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ด่านตรวจคนเข้าเมือง และด่านศุลกากร ร่วมกันพิจารณาพื้นที่ภายในอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ โดยสังเกตการณ์จากผู้โดยสารที่เดินทางมาจากไทเป เพื่อกำหนดกระบวนการให้บริการผู้โดยสารให้เกิดความสะดวก รวดเร็วที่สุด เตรียมพร้อมรองรับจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศที่จะเพิ่มขึ้นหลังจากจีนเปิดประเทศ
ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบัน ท่าอากาศยานเชียงใหม่ มีเส้นทางบินตรงระหว่างประเทศ 11 เส้นทาง ได้แก่ อินชอน สิงคโปร์ ไทเป หลวงพระบาง ดานัง ฮานอย ฮ่องกง กัวลาลัมเปอร์ ปูซาน โฮจิมินห์ และย่างกุ้ง ให้บริการโดย 12 สายการบิน
ส่วนเส้นทางบินจากจีนแผ่นดินใหญ่ จะเริ่มทำการบินในวันที่ 18 มกราคม 2566 โดยสายการบินจุนเหยา จะทำการบินเส้นทาง เซี่ยงไฮ้-เชียงใหม่ และในวันที่ 20 มกราคม 2566 สายการบินสปริงแอร์ จะทำการบินเส้นทาง กวางโจว-เชียงใหม่
นอกจากนี้ยังมีสายการบินที่อยู่ระหว่างดำเนินการขอใบอนุญาตทำการบินอีก 4 สายการบิน ได้แก่ สายการบินแอร์ไชน่า เส้นทาง ปักกิ่ง-เชียงใหม่ สายการบินเสฉวน เส้นทาง เฉินตู-เชียงใหม่ สายการบินไชน่าอีสเทิน เส้นทาง เซี่ยงไฮ้-เชียงใหม่ และสายการบิน สายการบินสปริงแอร์ เส้นทาง เซี่ยงไฮ้-เชียงใหม่
ทั้งนี้ในปี 2562 ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ท่าอากาศยานเชียงใหม่ มีเส้นทางบินตรงไปยังเมืองต่างๆ ของจีนทั้งสิ้น 19 เส้นทาง มีผู้โดยสารชาวจีนเฉลี่ยวันละ 4,000-5,000 คน และมีจำนวนผู้โดยสารชาวจีน ผ่านเข้าออกช่องทาง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ในปี 2562 กว่า 1.78 ล้านคน
สำหรับการตรวจคัดกรองผู้โดยสารชาวต่างชาติ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ พร้อมที่จะดำเนินการตามมาตรการของรัฐบาล โดยจะคำนึงถึงความปลอดภัยและสุขอนามัยของผู้โดยสารและผู้ปฏิบัติงาน ควบคู่ไปกับความสะดวกรวดเร็วในการให้บริการ.