สังคม » ไทยเจ้าภาพในการจัดการประชุมอารักขาพืชระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ที่จังหวัดเชียงใหม่

ไทยเจ้าภาพในการจัดการประชุมอารักขาพืชระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ที่จังหวัดเชียงใหม่

25 พฤศจิกายน 2019
707   0

Spread the love

กรมวิชาการเกษตร ร่วมกับ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ จัดประชุมอารักขาพืชระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีสมาชิก 25 ประเทศ เข้าร่วม

25 พฤศจิกายน 2562 นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานเปิดการประชุมอารักขาพืชระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกครั้งที่ 31 (The thirty-first session of the asia and pacific plant protection commission : APPPC) ซึ่งกรมวิชาการเกษตร ได้ร่วมกับสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ จัดการประชุมในครั้งนี้ขึ้น โดยในปีนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุม ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-29 พฤศจิกายนนี้ ที่โรงแรมแชงกรี-ลา อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

การประชุม APPPC ครั้งนี้เป็นเวทีสำหรับรายงานสถานการณ์ด้านกักกันพืช การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน และการบริหารจัดการวัตถุอันตราย ซึ่งประเด็นสำคัญของไทยในปีนี้ คือการเสนอเรื่องวิธีการ สุขอนามัยพืชในการรับรองการผลิตเมล็ดพันธุ์ และการใช้วิธีแช่น้ำร้อนเพื่อกำจัดแมลงวันผลไม้ในมะม่วง เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการส่งออกของประเทศ


ทั้งนี้ การประชุมในครั้งนี้จะมีการพิจารณารับรองร่างมาตรฐานระหว่างประเทศ ด้านมาตรการสุขอนามัยพืชระดับภูมิภาค RSPM (Regional Standards for Phytosanitary Measures) รวม 3 เรื่อง คือ มาตรฐานการเคลื่อนย้ายผลมะม่วงสดระหว่างประเทศ เสนอโดย ประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งอาจมีผลต่อการพิจารณา เงื่อนไขการนำเข้า-ส่งออกผลมะม่วงสดของประเทศสมาชิก และอีก 2 เรื่องที่เสนอโดยประเทศไทย จะมีการนำเสนอวิธีการอนามัยพืชในการรับรองการผลิตเมล็ดพันธุ์ และการใช้วิธีแช่น้ำร้อนเพื่อกำจัดแมลงวันผลไม้ในผลมะม่วง

การประชุมคณะกรรมาธิการอารักขาพืชระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 31 จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย หากสามารถผลักดันให้ร่างมาตรฐานทั้ง 2 เรื่องดังกล่าว ได้รับความเห็นชอบจากประเทศสมาชิก ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมนโยบาย seed hub ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างเป็นรูปธรรม และการเพิ่มวิธีกำจัดแมลงวันผลไม้ในมะม่วงที่มีต้นทุนต่ำกว่าวิธีอบไอน้ำและฉายรังสีที่นิยมใช้ในปัจจุบัน จะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกมะม่วงของประเทศไทย และเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องจากหน่วยงานต่างๆ ของประเทศไทยได้เข้าร่วมประชุม และเป็นการประชาสัมพันธ์ประเทศไทยอีกทางหนึ่งด้วย