26 มีนาคม 65 – วัดศรีสุพรรณ จ.เชียงใหม่ ร่วมกับเทศบาลนครเชียงใหม่ แถลงข่าวเตรียมจัดงาน “จุ้มสะหลี๋ปี๋ใหม่เมือง ไหว้สาป๋ารมี วัดศรีสุพรรณ” เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี2565 สืบสานประเพณี ปี๋ใหม่เมืองเชียงใหม่ ให้คนรุ่นหลังได้เห็นประเพณี วัฒนธรรมอันล้ำค่าของบรรพชนในอดีต ที่หาดูและจับต้องได้ยาก นำโดย พระครูพิทักษ์สุทธิคุณ เจ้าอาวาสวัดศรีสุพรรณพร้อมด้วยนายภพธร นิยมกูล หัวหน้างานส่งเสริมประเพณีศิลปวัฒนธรรม เทศบาลนครเชียงใหม่ , พ่อครูดิเรก สิทธิการ ครูภูมิปัญญาเครื่องเงิน และนายพงษ์ดนัย อะมัง ประธานจัดงาน ร่วมกันแถลงข่าว ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที 12 – 18 เมษายน 2564 ภายใต้มาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ณ วัดศรีสุพรรณจ.เชียงใหม่
โดย พระครูพิทักษ์สุทธิคุณ เจ้าอาวาสวัดศรีสุพรรณ เปิดเผยว่า วัดศรีสุพรรณ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2043 ปัจจุบันอายุครบ 522 ปี สร้างโดยพระเมืองแก้วกษัตริย์ลำดับที่ 11 แห่งราชวงศ์มังราย ผู้ครอง “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” พร้อมพระราชมารดาเทวีเจ้า ซึ่งมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาและมีคำสั่งให้มหาอำมาตย์ซื่อ หมื่นหลวงจ่าคำ นำพระพุทธรูปมาประดิษฐานไว้ และสร้างมหาวิหารสร้างบรมธาตุเจดีย์แล้วตั้งชื่อวัดแห่งนี้ว่า “ศรีสุพรรณอาราม” ต่อมา ปีพุทธศักราช 2045 พระเมืองแก้ว ได้นิมนต์ ให้มหาเถรญาณรัตน จากวัดหมื่นสาร มาอยู่เป็น อธิสังฆนายถ ในวัดนี้ ปีพุทธศักราช 2052 ให้นิมนต์พระสงฆ์ทั้งหลายมีสมเด็จมหาสามีติลสัทธรรมพิเจ้า วัดสวนดอกไม้ เป็นประธานผูกพัทธสีมา เจ้าหมื่นหลวงจ่าคำและเจ้านางหมื่นชื่อเจ้าจันทระภัทราทั้งสองมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาจึงถวายทานคน ไว้เป็นข้าวัด 20 ครอบครัว นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา วัดศรีสุพรรณได้กลายเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งในเชียงใหม่ ที่ได้ทำหน้าที่รักษาพระศาสนาไว้เมื่อถึงเทศกาลงานประเพณีที่สำคัญต่าง ๆ และในสมัย พระเจ้ากาวิละ กษัตริย์เมืองเชียงใหม่ ได้ให้บรรดาพวกช่างต่าง ๆ แยกย้ายกันตั้งบ้านเรือนอยู่ประจำทางประตูด้านทิศใต้ของเมือง พวกที่ถนัดเครื่องเงินให้ไปอยู่ใกล้ ๆ วัดหมื่นสารบ้านวัวลายและวัดศรีสุพรรณ ถนนวัวลาย จึงเป็นต้นกำเนิดของเครื่องเงินวัดหมื่นสารบ้านวัวลายและวัดศรีสุพรรณ ถนนวัวลายจึงกลายเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงมากในสมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงปัจจุบัน
ด้านนายภพธร นิยมกูล หัวหน้างานส่งเสริมประเพณีศิลปวัฒนธรรม เทศบาลนครเชียงใหม่กล่าวว่า ปีนี้เป็นโอกาสอันดีในวาระครบรอบ 522 ปีของ วัดศรีสุพรรณ เทศบาลนครเชียงใหม่ซึ่งมีวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ในการผลักดันให้นครเชียงใหม่เป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน มีเอกลักษณ์ด้านศิลปวัฒนธรรม ชุมชนเข้มแข็ง ด้วยการบริหารภายใต้หลักธรรมาภิบาล จึงร่วมสนับสนุนการจัดงาน “จุ้มสะหลี๋ปี๋ใหม่เมือง ไหว้สาป๋ารมี วัดศรีสุพรรณ” เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี2565 เพื่อให้เอกลักษณ์ของงานปี๋ใหม่เมืองยังคงอยู่สืบไปถึงลูกหลาน อีกทั้งยังเป็นการช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ซบเซาลงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโรคไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือนร้อน โดยหวังว่าการจัดงานในครั้งนี้จะช่วยสร้างรายได้ให้ประชนชนในพื้นที่ และช่วยส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมล้านนา โดยเฉพาะเครื่องเงิน อันเป็นเอกลักษณ์ที่ขึ้นชื่อของชุมชนวัวลาย อีกทั้งผู้ที่มาเที่ยวงานจะได้ชมความงามของอุโบสถเงินวัดศรีสุพรรณ อุโบสถเงินหลังแรกของโลก อีกด้วย
พ่อครูดิเรก สิทธิการ ครูภูมิปัญญาเครื่องเงิน กล่าวว่า หัตถกรรมเครื่องเงินเชียงใหม่ถือเป็นศิลปหัตถกรรมที่มีคุณค่าในตัวเอง ทั้งในด้านรูปทรงและลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์จากช่างฝีมือในพื้นที่ที่มีความรู้ความชำนาญและความประณีตพิเศษ จึงทำให้หัตถกรรมเครื่องเงินเชียงใหม่เป็นที่รู้จักและนิยมในหมู่ของกลุ่มคนไทย และชาวต่างประเทศ แต่ด้วยปัจจุบันเงินราคาแพงจึงมีการนำแผ่นอะลูมิเนียมมาทดแทน ถือเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมมากเช่นกัน และเป็นสินค้าที่เชิดหน้าชูตาของชาวบ้าน ไม่แพ้ผลิตภัณฑ์เครื่องเงิน การถ่ายทอดองค์ความรู้และการอนุรักษ์ศิลปกรรมท้องถิ่นจึงเป็นเรื่องสำคัญ ด้วยโลกยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เด็ก ๆ ยุคใหม่ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอมือถือ หรือ คอมพิวเตอร์ มากกว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้จึงถือว่าเป็นแนวทางอันดีที่จะช่วยให้หัตถกรรมเครื่องเงินเชียงใหม่เป็นที่รู้จักมากขึ้น หากเราไม่ช่วยกันเผยแพร่และอนุรักษ์ไว้ภูมิปัญญาเหล่านี้คงสูญหายไปจากสังคมไทยอย่างแน่นอน
นายพงษ์ดนัย อะมัง ประธานจัดงาน ได้กล่าวถึงการจัดงาน “จุ้มสะหลี๋ปี๋ใหม่เมือง ไหว้สาป๋ารมี วัดศรีสุพรรณ” ว่า ประเพณีสงกรานต์ เป็นประเพณีสำคัญของชาวเหนือ หรือชาวล้านนา อันสืบเนื่องมากจากอดีตกาล ซึ่งการจัดงาน “จุ้มสะหลี๋ปี๋ใหม่เมืองไหว้สาป๋ารมี วัดศรีสุพรรณ” ในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อเป็นการสืบสานประเพณีปี๋ใหม่เมืองให้คนรุ่นหลังได้เห็นประเพณีและวัฒนธรรมอันล้ำค่าของบรรพชนในอดีต โดยผู้ที่มาเที่ยวชมงานจะได้สัมผัสบรรยากาศแบบล้านนาที่หาดูและจับต้องได้ยาก ซึ่งภายในงานครั้งนี้มีไฮไลท์ต่าง ๆ มากมาย ประกอบด้วย