เมื่อวันที่ 24 มีนาคม.นี้ ซีแพค กรีน โซลูชัน ผู้นำด้านนวัตกรรมการก่อสร้างเพื่อสิ่งแวดล้อมจัดกิจกรรมเสวนา “CPAC Green Solution ล้ำ เปลี่ยน โลก Roadshow” เพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจ และประโยชน์ในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาผลักดันนวัตกรรมก่อสร้าง (Digital & Construction Technology) ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านกระบวนการก่อสร้างแบบ “Turn Waste to Value” นับเป็นการยกระดับมาตรฐานงานก่อสร้างของประเทศไทยเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงการอัพเดทเทรนด์และนวัตกรรมการพัฒนางานก่อสร้างยุคใหม่ ตอกย้ำแนวคิด ‘ล้ำ เปลี่ยน โลก’ จาก CPAC Green Solution พร้อมบุกทั่วทุกภูมิภาค โดยล่าสุดขึ้นเหนือมาที่ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ห้อง NSP Rice Grain Auditorium อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ
นายสุรชัย จบศรี CSC Director เชียงใหม่ ในฐานะตัวแทน บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) กล่าวถึงที่มาของการจัดงาน “CPAC Green Solution ล้ำ เปลี่ยน โลก Roadshow” ว่า “ซีแพค กรีน โซลูชัน นับว่าอยู่ในวงการอุตสาหกรรมก่อสร้างมายาวนาน ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยหยุดนิ่งที่จะศึกษานวัตกรรมใหม่ๆ และนำมาปรับใช้ เพื่อจุดมุ่งหมายที่จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างของประเทศไทยให้มีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล ขณะเดียวกันก็คำนึงถึงเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยกระบวนการ “Turn Waste to Value” คือการเปลี่ยน Waste หรือความสูญเสียให้เป็น Value หรือการสร้างผลประโยชน์คืนกลับสู่สังคม ผ่านการพัฒนานวัตกรรมโซลูชันครบวงจรด้วย CPAC Green Solution โดยมีการนำแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยยึดหลัก ESG 4 Plus ของ SCG มาใช้ในการดำเนินงานคือ มุ่ง Net Zero – Go Green – Lean เหลื่อมล้ำ – ย้ำร่วมมือ – Plus เป็นธรรม โปร่งใส ทั้งนี้วัตถุประสงค์หลักของการจัดงานครั้งนี้เพื่อแชร์องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการก่อสร้าง (Digital & Construction Technology) อีกทั้งเพื่อสร้างความร่วมมืออันดีระหว่างผู้เกี่ยวข้องที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันนี้ ตั้งแต่เจ้าของงานก่อสร้าง ผู้รับเหมา ช่าง ผู้ให้บริการ ด้านการก่อสร้าง ผู้ออกแบบ ผู้ผลิตวัสดุ และผู้จำหน่ายวัสดุทั้งในระดับประเทศรวมถึงในระดับท้องถิ่น”
สำหรับ ซีแพค กรีน โซลูชัน มีโซลูชันที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าครบ จบที่เดียว ตั้งแต่เริ่มกระบวนการก่อสร้าง (Pre Construction) ระหว่างการก่อสร้าง (Construction) รวมไปถึงหลังการก่อสร้าง (After Construction) โดยแบ่งเป็นกลุ่มตามโซลูชัน ดังนี้
1.กลุ่มโซลูชันสำหรับงานสำรวจ และงานออกแบบ รวมไปถึงการควบคุมงานก่อสร้าง ได้แก่
1) CPAC Drone Solution โซลูชันสำหรับการสำรวจพื้นที่ โดยใช้โดรนบินสำรวจ และนำข้อมูลมาออกแบบจัดทำผังโครงการ ลดระยะเวลาในการสำรวจและลดความผิดพลาดในการก่อสร้าง เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พื้นที่
2) CPAC BIM ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการบริหารงานก่อสร้าง เพื่อช่วยให้เห็นภาพงานก่อสร้างในทุกขั้นตอน
2.กลุ่มโซลูชันสำหรับงานก่อสร้าง ได้แก่
1) CPAC 3D Printing Solution โซลูชันการก่อสร้างรูปแบบใหม่โดยเครื่องพิมพ์แบบ 3 มิติ ขึ้นรูปด้วยปูนซีเมนต์เป็นรูปผนังอาคาร หรือชิ้นส่วนของอาคาร ตลอดจนชิ้นงานสำหรับตกแต่ง โดยสามารถทำการพิมพ์ขึ้นรูปทั้งแบบในพื้นที่ก่อสร้างเลย (on-site) และแบบผลิตจากโรงงาน (off-site) ช่วยลดการเกิดของเสียจากกระบวนการก่อสร้างลงอย่างน้อย 70% เมื่อเปรียบเทียบกับระบบหล่อในที่
2) CPAC Housing and Building Solution ก่อสร้างที่พักอาศัยที่ทำให้ผู้อยู่อาศัยอยู่อย่างสะดวกสบาย และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในทุกกระบวนการก่อสร้าง ลดการใช้แรงงาน และ ลดเศษวัสดุเหลือทิ้งจากการก่อสร้างที่หน้างานได้มากกว่า เมื่อเทียบกับระบบหล่อในที่ ประกอบด้วย ระบบผนังสำเร็จรูป (Precast) เป็นการผลิตผนังสำเร็จรูปจากโรงงาน แล้วนำมาประกอบหรือติดตั้งที่หน้างาน เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการก่อสร้าง ลดเศษวัสดุเหลือใช้ที่ไซต์งานก่อสร้าง และนวัตกรรมการก่อสร้างงานผนังครบวงจร Aluminium Formwork Wall Solution System ที่มาพร้อมกับทีมบริการและผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานจาก CPAC Green Solution ติดตั้งด้วยระบบ Forming System ทำให้งานผนังมีคุณภาพแข็งแรงคงทน ผิวเรียบเนียน พร้อมด้วยความรวดเร็วในการทำงานที่เหนือกว่า ช่วยลดเวลา ลดการใช้แรงงาน และลดต้นทุนแฝงที่เกิดจากการซ่อมแซมในงานก่อสร้าง เหมาะสำหรับงานก่อสร้างในพื้นที่เขตแผ่นดินไหว
“นอกจากนี้ CPAC Green Solution ยังได้ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) วิจัยโครงการ “การพัฒนาแนวทางการแก้ไขวัสดุขั้นพื้นฐานอย่างชาญฉลาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสำหรับการก่อสร้างถนนของประเทศไทย” สำหรับเป็นแนวทางในการที่จะพัฒนาวิธีการก่อสร้างถนน โดยการปรับเปลี่ยนการก่อสร้างชั้นพื้นทาง ที่เดิมจะต้องใช้วิธีถมดินและบดอัด เป็นวัสดุทางเลือกอื่นๆ ที่สามารถก่อสร้างได้เร็ว มีความแข็งแรง และลดการใช้ทรัพยากร ซึ่ง SCG มีความชำนาญในด้านวัสดุประเภทปูนซีเมนต์และคอนกรีต ในขณะที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) มีหน่วยวิจัยวัสดุงานทาง ที่มีความชำนาญในด้านการวิเคราะห์ ทดสอบและพัฒนาการออกแบบถนน นับเป็น ความร่วมมือที่ดี ซึ่งหากโครงการนี้เสร็จสมบูรณ์ยังสามารถนำมาเป็นโครงการนำร่องและต่อยอดเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อไปในอนาคตได้” นายสุรชัย กล่าวสรุป
ด้าน ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมแบบจำลองสารสนเทศอาคาร เผยว่า “อุตสาหกรรมก่อสร้างเกิดการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะเมื่อโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล ดังนั้นจึงมีการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาเพื่อพัฒนาให้กระบวนการการดำเนินงานตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถ ตอบโจทย์ผู้ใช้ในงานให้ได้มากที่สุด และอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ปัจจุบันนำเอาเข้ามาใช้ ได้แก่ BIM หรือ Building Information Modeling เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการสร้างแบบครบวงจรที่มีความแม่นยำ ตั้งแต่ การออกแบบ การเขียนแบบ การคำนวณโครงสร้าง การประเมินราคา การวางแผนระบบต่างๆ ของอาคาร ฯลฯ”
“ด้วยเทคโนโลยีของ BIM สามารถเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมา การออกแบบก่อสร้างอาคารเราจะใช้พิมพ์เขียว (Blueprint) ในการสร้างแบบจำลอง ซึ่งสามารถก่อให้เกิดความผิดพลาดได้ง่าย เพราะ ในการก่อสร้างแต่ละครั้งย่อมจะต้องมีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้แม่แบบพิมพ์เขียวมีหลากหลาย โดยเฉพาะหากมีการแก้ไขแบบแล้วผู้เกี่ยวข้องแต่ละฝ่ายไม่ทราบก็ส่งผลให้เกิดความเสียหาย ล่าช้า เป็นต้น โดย BIM จะเข้ามาช่วยลดขั้นตอนความซับซ้อนตรงนี้ ซึ่งหลักการทำงานของ BIM คือทุกคนที่เกี่ยวข้องในระบบนิเวศน์ของโครงการก่อสร้างจะทำงานบนแพลตฟอร์มเดียวกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ แพลตฟอร์มที่ว่านี้จะเป็นระบบ 3 มิติ ดังนั้นจะทำให้เห็นภาพได้ง่ายและเข้าใจในสิ่งเดียวกัน ระบบสามารถตรวจสอบความขัดแย้งต่างๆ และสามารถแก้ไขได้ทันท่วงที ก่อนที่การก่อสร้างจะเริ่มต้น ทำให้ลดการสูญเสีย อีกทั้งเจ้าของโครงการก็สามารถตรวจสอบความก้าวหน้าได้ทุกเวลาและแจ้งแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนได้ทันท่วงที”
“ปัจจุบัน ซีแพคและอีกหลายๆ บริษัทก็ได้มีการนำ BIM เข้ามาใช้ ยกตัวอย่าง โครงการหมู่บ้านจัดสรร Malada เชียงใหม่ และโครงการหมู่บ้านจัดสรร สุุขนิรันดร์ แกรนด์วิลล่า เชียงราย เป็นต้น สำหรับแนวโน้มในอนาคตมองว่า BIM จะต้องเข้ามาปฏิวัติวงการก่อสร้างทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้นทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจวงการก่อสร้างจะต้องปรับตัวเข้าสู่ทิศทางการทำงานของ BIM เพื่อให้เราสามารถแข่งขันในธุรกิจนี้ต่อไปได้” ศ.ดร.อมร กล่าวปิดท้าย