สกู๊ปพิเศษ » กลยุทธ์หยุดหมอกควันบนพื้นที่สูง บ้านห้วยน้ำใส อ.สบเมย จ. แม่ฮ่องสอน ชุมชนต้นแบบ แหล่งเรียนรู้ด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน

กลยุทธ์หยุดหมอกควันบนพื้นที่สูง บ้านห้วยน้ำใส อ.สบเมย จ. แม่ฮ่องสอน ชุมชนต้นแบบ แหล่งเรียนรู้ด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน

4 มีนาคม 2022
464   0

Spread the love

ความสำเร็จของการลดปัญหาหมอกควัน และลดเผาป่า บนพื้นที่สูง เกิดจากการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืนแบบโครงการหลวงที่เน้นให้ชุมชนสามารถมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ ด้วยระบบเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยใช้องค์ความรู้และงานวิจัยใหม่เพื่อเพิ่มทางเลือกในการประกอบอาชีพ สร้างให้ชุมชนมีความมั่นคงด้านอาหาร มีอาชีพที่หลากหลายและมีตลาดรองรับ เป็นกลยุทธ์สำคัญที่ช่วยลดปัญหาหมอกควันบนพื้นที่สูง นอกจากนี้การขยายผลองค์ความรู้จากโครงการหลวงยังทำให้ชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการฟื้นฟูพื้นที่ทำการเกษตร ลดพื้นที่ทำไร่หมุนเวียนกลับคืนเป็นพื้นที่ป่าให้กับสังคมและประเทศ จำนวน 966 ไร่

ปัจจุบันบ้านห้วยน้ำใส หมู่ 9 ต. สบเมย จ. แม่ฮ่องสอน เป็นตัวอย่างและแหล่งเรียนรู้ด้านพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เหมาะสมกับภูมิสังคมของชุมชนชาวกะเหรี่ยงในเขตพื้นที่สูงของประเทศไทยในการสร้างสังคมที่เป็นสุข ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ด้วยความร่วมมือทุกภาคส่วน และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) ทำให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นายเดชธพล กล่อมจอหอ หัวหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง กลุ่ม 4 สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. กล่าวว่า โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสบเมย มีเป้าหมายพัฒนาชุมชนบ้านห้วยน้ำใส เริ่มดำเนินการเมื่อปี พ.ศ.2558 ในแนวขับเคลื่อนนโยบายแม่ฮ่องสอนโมเดล “คนอยู่ร่วมกับป่า” เพื่อพัฒนาชุมชนต้นแบบที่เป็นชุมชนชาวเขากะเหรี่ยงซึ่งมีประชากรมากที่สุดบนพื้นที่สูงของประเทศไทย คือ ร้อยละ 41.57 ที่ปัจจุบันวิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตที่เคยมีการดำรงชีวิตอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยดำเนินงานด้วยหลัก “การพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืนแบบโครงการหลวง” ที่เน้นให้ชุมชนสามารถมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ มีรูปแบบการทำงานมุ่งเน้นการบูรณาการอย่างสมดุล บนฐานข้อมูล องค์ความรู้ และเทคโนโลยี ได้แก่ การจัดเวทีชุมชน ระดมความคิดเห็นจัดทำแผนชุมชน วิเคราะห์พื้นที่ โดยจัดทำข้อมูลบริบทพื้นที่ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) แผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดินรายแปลงเพื่อทราบสถานการณ์ นำไปสู่การวางแผน และเกิดเป็นแผนพัฒนาชุมชนเดียวกัน (One Village One plan) ให้สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการและเกิดประโยชน์สูงสุด

รวมทั้ง บทบาทของแต่ละภาคส่วนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการ ให้ตรงตามบริบทและภูมิสังคมของชุมชน อย่างเป็นระบบครบวงจร สามารถแก้ไขปัญหาของชุมชนได้อย่างถูกต้องและเกิดประสิทธิผลมากที่สุด ประกอบด้วย ด้านเศรษฐกิจ พัฒนาอาชีพเพื่อสร้างรายได้และความมั่นคงด้านอาหาร , ด้านสังคม ส่งเสริมการรวมกลุ่มสร้างความเข้มแข็งของชุมชน , ด้านสิ่งแวดล้อม กำหนดเขตการใช้ที่ดินไม่ให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่า อนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น ทำฝาย แนวกันไฟป้องกันไฟป่า ปลูกป่าต้นน้ำ และปลูกหญ้าแฝก เป็นต้น , ด้านโครงสร้างพื้นฐาน มีการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ ถนนไฟฟ้า และสาธารณูปโภคอื่น ๆ เท่าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต , การบริหารจัดการและประสานงาน มีหน่วยงานระดับจังหวัดแม่ฮ่องสอน อ.สบเมย องค์การบริหารส่วนตำบลสบเมย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) และโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสบเมย เป็นพี่เลี้ยงหลักทำการประสานงานหน่วยงานสนับสนุน ในการขับเคลื่อนการพัฒนาในพื้นที่ให้บรรลุเป้าหมาย

นายพินิจ วันนา หัวหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสบเมย กล่าวว่า บ้านห้วยน้ำใส จ.แม่ฮ่องสอน มีประชาชน 86 ครัวเรือน เป็นชาวเขาเผ่าปกาเกอะญอ (กระเหรี่ยง) พื้นที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ มีขอบเขตพื้นที่ชุมชน 8,490 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 1 และ 2 ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ ทุรกันดาร และยากต่อการเข้าถึงการพัฒนาของรัฐ ประกอบกับการขาดความรู้และทางเลือกในการประกอบอาชีพ ประสบปัญหาความยากจน มีการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างไม่ถูกต้อง คือการทำไร่หมุมเวียน ปลูกข้าวไร่ และพริกกะเหรี่ยง จำนวน 1,903 ไร่ ส่วนใหญ่ผลิตเพื่อยังชีพและบริโภคในครัวเรือนเป็นหลัก มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต และขาดความมั่นคงทางด้านอาหาร รายได้ 37,000 บาท/ปี จากพื้นที่ส่วนใหญ่ขาดแคลนแหล่งน้ำ ทำให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่า และหมอกควันจากการเผาเศษพืชเกิดปัญหาไฟป่า

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างถูกต้องเหมาะสมตามภูมิสังคม จนเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม และเกิดผลลัพธ์อันเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ทั้งชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต และมีระบบเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้พื้นที่และน้ำอย่างจำกัด โดยปรับเปลี่ยนจากการทำไร่หมุนเวียน เป็นระบบเกษตรผสมผสานที่ได้รับรองมาตรฐาน GAP เช่น อะโวกาโด มะม่วง กาแฟ เสาวรส บุก ข้าว พืชผัก และปศุสัตว์ เกิดการรวมเป็นกลุ่มเตรียมสหกรณ์ และได้ส่งเสริมเกษตรกร 44 ราย พื้นที่ 113 ไร่ สามารถสร้างรายได้ 2,541,197 บาท และเกษตรกรตัวอย่าง (smart farmer) สร้างรายได้จากการปลูกเสาวรส 1 ไร่ ประมาณ 100,000 บาท เทียบเท่ากับการใช้พื้นที่ปลูกข้าวไร่ 25 ไร่

รวมทั้ง การอนุรักษ์ฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของป่า เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) และแหล่งอาหารของชุมชน (Food bank) เช่น บุก เร่ว พลู และสมุนไพร ในพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร 2,261 ไร่ ส่งผลให้ปัจจุบันบ้านห้วยน้ำใสจึงเป็นตัวอย่างและแหล่งเรียนรู้ด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่เหมาะสมกับภูมิสังคมของชุมชนชาวกะเหรี่ยงในเขตพื้นที่สูงของประเทศไทย.